การต่อรองของแรงงานภาคอุตสาหกรรมประเทศไทย

การต่อรองของแรงงานภาคอุตสาหกรรมประเทศไทย

การก้าวข้าม “ฉันทามติวอชิงตัน” สู่การเป็นแรงงานในฐานะ “ผู้กระทำการ”

: กรณีศึกษาการเปิดตัวสมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (CILT)[1]

                                                                                                                     
บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์
ฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย 
เผยแพร่เมื่อ 9 ตุลาคม 2556
ปรับปรุง 27 พฤศจิกายน 2556

 

ประเด็นนำเสนอ      

(1)      การจัดความสัมพันธ์แบบ “นายกับบ่าว” ในสหภาพแรงงานประเทศไทย

(2)      เสรีนิยมใหม่: การจัดความสัมพันธ์แบบใหม่ระหว่างนายทุน รัฐ และแรงงาน

(3)      การต่อรองของแรงงานภาคอุตสาหกรรมประเทศไทยในฐานะ “ผู้กระทำการ” (Agency)

 

6 ตุลาคม 2556 ณ โรงแรมบางกอกพาเลซ กรุงเทพมหานคร

          วันเปิดตัวสมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (CILT) อย่างเป็นทางการ

            CILT เป็นตัวย่อของ Confederation of Industrial Labour of Thailand ซึ่งเป็นการรวมตัวของ 4 องค์กรแรงงานในประเทศไทย ได้แก่ สมาพันธ์เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเลคทรอนิคส์ ยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย (TEAM) สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย (TWFT) สหพันธ์แรงงานนานาชาติกิจการเคมีภัณฑ์, พลังงาน, เหมืองแร่, แรงงานทั่วไปในประเทศไทย (ICEM-THAI) และสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย (ALCT) รวม 211 สหภาพ สมาชิก 148,540 คน ซึ่งทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเลคทรอนิคส์  ยานยนต์ เหล็ก สิ่งทอ ตัดเย็บ เครื่องหนัง เคมี ยาง กระดาษ กระจก ปูนซีเมนต์ น้ำมัน แก๊ส และไฟฟ้า

มีเป้าหมายสำคัญเพื่อต้องการให้คนงานอุตสาหกรรมในประเทศไทย มีอำนาจการต่อรองที่เข้มแข็ง มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคงในการทำงาน มีสวัสดิการแรงงานและสวัสดิการสังคมที่ดี และมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์

CILT เป็นองค์กรแรงงานที่สังกัดอยู่ในสภาแรงงานอุตสาหกรรมสากล (IndustriALL Global Union) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์[2]

การบริหารงานของ CILT อยู่ในรูปของคณะกรรมการบริหารไม่น้อยกว่า 25 คน ประกอบด้วยประธาน เลขาธิการ เหรัญญิก นายทะเบียน ฝ่ายวิชาการ ฝ่ายความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ฝ่ายสตรีและเด็ก ฝ่ายต่างประเทศ ฝ่ายส่งเสริมสิทธิแรงงาน ฝ่ายสถิติและข้อมูล ฝ่ายประชาสัมพันธ์ และฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ โดยมีการจัดเก็บอัตราค่าบำรุงองค์กรจำนวน 8-24 บาท/คน/ปี โดยคิดตามจำนวนสมาชิกของแต่ละองค์กรแรงงานอุตสาหกรรมตามทะเบียนที่แจ้งไว้

ทั้งนี้เมื่อ 27 พฤศจิกายน 2556 มีการคัดสรรกรรมการรักษาการ CILT ประกอบด้วย ยงยุทธ เม่นตะเภา รักษาการประธาน CILT ธีระวิทย์ วงศ์เพชร รักษาการเลขาธิการ CILT และธีระวุฒิ เบญมาตย์ รักษาการรองเลขาธิการ CILT

            สำหรับชาลี ลอยสูงแล้ว อีกตำแหน่งที่นอกเหนือจากประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เขายังมีตำแหน่งประธานสมาพันธ์เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเลคทรอนิคส์ ยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย (TEAM) ร่วมด้วย เขาบอกว่านี้ไม่ใช่จุดเริ่มต้น อาจต้องหวนย้อนไปตั้งแต่ปี 2552 หรือกว่า 4 ปีที่แล้ว 

            4 กันยายน 2552 สหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย ได้จัดสัมมนาเรื่อง “สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมในสถานการณ์ปัจจุบัน” โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อมุ่งไปสู่การจัดตั้งสหภาพแรงงานในกลุ่มสมาชิก ให้ยกระดับเป็น “สหภาพแรงงานประเภทอุตสาหกรรมยานยนต์” เนื่องจากที่ผ่านมากว่า 40 ปี การจัดตั้งสหภาพแรงงานในประเทศไทยโดยส่วนใหญ่เป็นการจัดตั้งแบบ 1 สหภาพแรงงาน 1 สถานประกอบการ เป็นสหภาพแรงงานเชิงเดี่ยว มีขนาดเล็ก-ใหญ่ตามขนาดสถานประกอบการ เน้นการยื่นข้อเรียกร้องสวัสดิการ ปกป้องสิทธิสวัสดิการสมาชิกภายในสถานประกอบการตนเองเพียงเท่านั้น แม้ว่า พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 จะกำหนดว่าการจัดตั้งสหภาพแรงงานสามารถจัดตั้งในประเภทกิจการอุตสาหกรรมเดียวกันก็ได้แต่ก็มีน้อยมาก

            รวมทั้งตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา กระทรวงแรงงานเองก็ได้มีการแยกประเภทกิจการอุตสาหกรรมตามแนวของกระทรวงพาณิชย์ยิ่งนำมาสู่การแบ่งแยกลูกจ้างออกจากกันมากขึ้น เพราะนายจ้างบางแห่งได้ใช้วิธีแบ่งแยกกิจการของตนเองตั้งเป็นบริษัทย่อยๆตามลักษณะประเภทงานที่ทำ เช่น แยกการผลิตรถยนต์ออกจากกิจการขนส่งรถยนต์ เป็นต้น

            อีกทั้งแรงงานส่วนมากก็ยังถูกครอบงำว่า “ให้อยู่แต่ในบ้านตนเองดีกว่า” หรือ “กวาดบ้านตนเองให้ดีก่อน ก่อนที่จะไปกวาดบ้านคนอื่น” การจัดตั้งสหภาพแรงงานแบบ “บ้านใคร-บ้านมัน” จึงนำมาสู่ความอ่อนแอในการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานในภาพรวมอย่างยากจะหลีกเลี่ยง

ทั้งๆที่ว่าไปแล้วการเกิดขึ้นมาของสหภาพแรงงานยุคเริ่มแรกในยุโรป เกิดจากคนที่มีอาชีพเดียวกันรวมตัวกันเพื่อกำหนดค่าจ้างการทำงานของตนเองต่อผู้ว่าจ้าง ซึ่งก็เป็นความหมายเดียวกับสหภาพแรงงานประเภทอุตสาหกรรมในปัจจุบันนั้นเอง

หรือแม้แต่ในปัจจุบันสหภาพแรงงานในประเทศทางยุโรป อเมริกา รวมถึงประเทศส่วนใหญ่ในโลกก็เป็นสหภาพแรงงานตามสาขาอาชีพ มีเพียงบางประเทศในแถบเอเชียเท่านั้น เช่น ประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ที่ยังคงมีการตั้งสหภาพแรงงานแบบนายจ้างคนเดียวกัน ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่ประเทศต่างๆเหล่านี้มีนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนด้านอุตสาหกรรมจำนวนมาก จึงได้มีการนำเอารูปแบบของสหภาพแรงงานแบบญี่ปุ่นมาใช้ ซึ่งญี่ปุ่นนั้นเป็นประเทศที่มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานแบบนายจ้างคนเดียวกันเป็นแห่งแรกของโลก

            ยงยุทธ เม่นตะเภา ในตำแหน่งปัจจุบันกับเลขาธิการคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ซึ่งเคยเป็นประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย  และขณะนี้มาดำรงตำแหน่งประธานสมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (CILT) เล่าให้ฟังต่อว่า

            “ในประเทศอเมริกา สหภาพแรงงานจะเป็นแบบอุตสาหกรรมทั้งนั้นโดยเฉพาะในกลุ่มยานยนต์ ใช้ชื่อว่าสหภาพแรงงานรถยนต์ มีสมาชิกเป็นคนงานจากค่ายรถยนต์ใหญ่ๆ เช่น ฟอร์ด จีเอ็ม ไครสเลอร์ มีสมาชิกรวมกันหลายหมื่นคน มีเงินทุนมาก ทำให้อำนาจการต่อรองจึงสูงมาก อีกทั้งในระดับโลกขณะนี้ได้มีการก้าวข้ามประเภทอุตสาหกรรมไปแล้ว โดยมีการรวมตัวกันของแรงงานโดยไม่คำนึงประเภทของอุตสาหกรรม เช่น คนงานในกลุ่มโลหะได้รวมกับกลุ่มเคมี ดังนั้นสหภาพแรงงานประเภทอุตสาหกรรมนั้นจึงเป็นทางออกของแรงงานไทยที่เหมาะสมที่สุด เห็นได้จากตัวอย่างสหภาพแรงงานชิ้นส่วนยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย เป็นต้น”

            จากจุดเริ่มต้นในปี 2552 นำมาสู่ในเดือนเมษายน ปี 2555 ที่มีการสัมมนาเรื่องการสร้างความเข้มแข็งของขบวนการแรงงานในประเทศไทยของ 4 องค์กรแรงงาน คือ TEAM, ICEM-THAI, TWFT และ ALCT และสถาน การณ์ระดับโลกเมื่อ 19 มิถุนายน 2555 ที่เมืองโคเปนเฮเก้น  ประเทศเดนมาร์ค ได้มีการรวมตัวของ 3 องค์กรแรงงานระดับโลก ได้แก่ สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมเหล็กโลหะระหว่างประเทศ (IMF) สหพันธ์แรงงาน เคมีภัณฑ์ พลังงาน และเหมืองแร่ระหว่างประเทศ (ICEM) และสหพันธ์แรงงาน สิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูปและเครื่องหนังระหว่างประเทศ (ITGLWF) ในองค์กรใหม่ชื่อ IndustriALL Global Union โดยมีสมาชิกประมาณ 50 ล้านคนใน 140 ประเทศทั่วโลก ครอบคลุมอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ พลังงาน เหมืองแร่ เหล็กและโลหะ สิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูปและเครื่องหนัง

Mr. Berthold Huber ประธาน IndustriALL Global Union ได้กล่าวในวันเปิดตัวไว้อย่างน่าสนใจว่า

“การเกิดขึ้นมาของ IndustriALL เป็นการใช้พลังของพวกเราทั้งหมดต่อสู้กับนายจ้างที่มาทำลายสหภาพแรงงานของเรา เราต้องเป็นเสียงของแรงงานทั้งปวง การจ้างงานแบบชั่วคราวเป็นการจ้างงานรูปแบบใหม่ที่ขูดรีดและทำลายความมั่นคงของมนุษย์ แรงงานหนุ่มสาวโดยเฉพาะแรงงานหญิงจะถูกทารุณที่สุดในระบบการจ้างเหมาแรงงาน ซึ่งไม่มีสภาพการจ้างงานที่ดี  เป็นงานที่ไร้ซึ่งสวัสดิการ เราจะต้องต่อสู้ร่วมกันเพื่อให้คนรุ่นหลังได้มีอนาคตมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะนายจ้างมีการวางแผนมากมาย เช่น การเคลื่อนย้ายทุน  การปรับโครงสร้างการผลิต การย้ายฐานการผลิต มีการปิดบริษัทหนึ่งและไปเปิดอีกบริษัทหนึ่ง

ดังนั้นเราจะต้องรวมตัวกันเพื่อปลดล็อคระบบการเคลื่อนย้ายทุนแบบนี้ให้ได้ ถ้าเราอยากจะเข้มแข็ง เราต้องเพิ่มจำนวนสมาชิกให้ได้  ทำให้พวกเขาได้เข้ามาสู่องค์กรแรงงานให้ได้ งานนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าเราร่วมกันทำและทำทุกอย่างให้มันโปร่งใส ทุกอย่างก็จะสำเร็จได้ ขอให้เราร่วมกันปกป้องสิทธิแรงงานและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้เท่าเทียมกัน”

            อีกทั้งยังพบว่าสถานการณ์การละเมิดสิทธิแรงงานรูปแบบต่างๆในประเทศไทยมีจำนวนมากขึ้น แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  มีการลงทุนโดยบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่จากกลุ่มประเทศ OECD[3] แต่ประเทศไทยก็ยังกอปรไปด้วยรูปแบบการจ้างงานที่ไม่มั่นคงในแทบทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานเหมาช่วงเหมาค่าแรง อีกทั้งกฎหมายนโยบายต่างๆด้านการคุ้มครองสิทธิแรงงานก็ยังไม่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ เอื้อให้เกิดการละเมิดสิทธิแรงงานได้ถูกกฎหมายโดยอาศัยช่องว่างทางกฎหมายได้โดยสะดวกขึ้น

            16 สิงหาคม 2555 จึงเป็นจุดเริ่มต้นวันแรกของการก่อตั้ง CILT ขึ้นมาในประเทศไทย ผ่านการประสานความร่วมมือของ 4 องค์กรข้างต้น คือ TEAM, ICEM-THAI, TWFT และ ALCT ในการที่จะทำกิจกรรมต่างๆร่วมกัน เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ มีการเรียนรู้เรื่องโครงสร้างและข้อจำกัดความเป็นตัวตนของแต่ละองค์กร เพื่อปรับเปลี่ยนแนวคิดและพัฒนาไปสู่การควบรวมเป็น “องค์กรเดียวกัน” ในอนาคต ทั้งนี้เมื่อ 18 สิงหาคม 2556 TEAM, ICEM-THAI, TWFT และ ALCT ได้ร่วมลงนามในปฏิญญาบางพระ ณ สายธารรีสอร์ท ต.บางพระ อ.ศรีราชา จังหวัดชลบุรีเพื่อมุ่งหมายไปสู่การควบรวมเป็นองค์กร CILT ต่อไป

            เหล่านี้เป็นสถานการณ์สำคัญที่นำมาสู่การเกิดมาขึ้นสมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

 

(1) การจัดความสัมพันธ์แบบ “นายกับบ่าว” ในสหภาพแรงงานประเทศไทย

การเกิดขึ้นมาของสหภาพแรงงานในประเทศไทยปฏิเสธไม่ได้ว่าได้รับอิทธิพลการจัดตั้งมาจากสหภาพแรงงานในประเทศญี่ปุ่นอย่างมาก อีกทั้งยังรับวัฒนธรรมสหภาพแรงงานแบบญี่ปุ่นเข้ามาใช้ในสหภาพแรงงานในประเทศไทยด้วย กล่าวคือ สหภาพแรงงานญี่ปุ่นมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากประเทศอื่นๆ โดยเป็นสหภาพแรงงานในสถานประกอบการหรือในแต่ละบริษัท ซึ่งจะรับลูกจ้างในบริษัทเดียวกันเท่านั้นเป็นสมาชิกโดยไม่แยกประเภทอาชีพ มีระบบจ้างงานระยะยาวแบบตลอดชีวิต มีการฝึกอบรบที่ครอบคลุมพนักงานอย่างกว้างขวาง และระบบการจ่ายค่าจ้างตามความอาวุโสในการทำงาน  สหภาพแรงงานของประเทศญี่ปุ่นจึงไม่ใช่สหภาพแรงงานตามประเภทอุตสาหกรรม หนึ่งบริษัทจะมีหนึ่งสหภาพแรงงานเพียงเท่านั้น

ระบบแรงงานสัมพันธ์ของสหภาพแรงงานในญี่ปุ่นได้ให้ความสำคัญต่อระบบอาวุโสและระบบการบังคับบัญชาเป็นพิเศษ เพื่อลดทอนความขัดแย้งทางด้านแรงงาน เพราะประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมาก็คือ ลูกจ้างประจำเท่านั้นที่สามารถเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้ ภายใต้หลักการที่ว่า "หนึ่งบริษัท หนึ่งสหภาพแรงงาน" ทำให้การจัดการด้านแรงงานสัมพันธ์ของบริษัทในญี่ปุ่นจึงมักจะครอบงำแรงงานโดยอ้างเหตุผลคล้ายๆ กับในระบบครอบครัว ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการทำงานที่สำคัญของคนญี่ปุ่น ซึ่งส่งผลต่อการจัดการความขัดแย้งระหว่างแรงงานกับบริษัทด้วยวิธีประนีประนอมเสมอมา

ผลจากการมุ่งเน้นระบบสหภาพแรงงานแบบสถานประกอบการทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารกับคนงานมักประนีประนอมกันอยู่ในสถานประกอบการมากกว่า และแม้ว่าข้อพิพาทแรงงานระหว่างลูกจ้างกับคนงานจะเกิดขึ้นเป็นปกติ แต่น้อยครั้งจะนำไปสู่การนัดหยุดงาน

เมื่อระบบแรงงานสัมพันธ์ในญี่ปุ่นมีลักษณะรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางมาก ดังนั้นสหภาพแรงงานจึงถูกแทรกซึมและมีการจัดกิจกรรมและบริการต่างๆในระดับสถานประกอบการสำหรับสมาชิกสหภาพในสถานประกอบการของตนเองเท่านั้น ทำให้สหภาพแรงงานที่จัดตั้งในระดับสถานประกอบการจึงมีจุดยืนที่มักจะร่วมมือกับฝ่ายบริหารเพื่อความอยู่รอดและความเจริญเติบโตในตำแหน่งหน้าที่การงาน ซึ่งเป็นลักษณะประนีประนอมอันเป็นลักษณะเด่นของสหภาพแรงงานในญี่ปุ่น

            การเลือกใช้วัฒนธรรมลักษณะนี้ในสหภาพแรงงานยังส่งผลในด้านลบ ก็คือ การเล่นพรรคเล่นพวก การเลือกที่รักมักที่ชัง การเกื้อหนุนญาติมิตร การเลี่ยงสิ่งที่เป็นทางการ ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ ตลอดจนการทุจริตคอร์รัปชัน และการใช้ระบบสายสัมพันธ์ในการทำงาน

อย่างไรก็ตามในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารและคนงานของญี่ปุ่นได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ ฝ่ายบริหารได้พัฒนาระบบการจ้างงานรูปแบบใหม่ซึ่งมีสภาพการจ้างงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น (ในญี่ปุ่นเรียกว่าการจ้างงานแบบฮะเคน) เช่น ยุทธศาสตร์การว่าจ้างบริษัทอื่นให้ทำการผลิตแทนบางส่วน (Outsourcing) การสร้างระบบการทำงานไม่เต็มเวลา เป็นต้น

ผลจากการดำเนินการดังกล่าว สหภาพแรงงานของญี่ปุ่นจึงต้องเผชิญกับปัญหาจำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานที่ลดต่ำลง ความภักดีของสมาชิกต่อสหภาพแรงงานก็ลดต่ำลงด้วย แนวโน้มดังกล่าวเป็นความเปลี่ยน แปลงหลักการของระบบแรงงานสัมพันธ์ของญี่ปุ่น ที่มุ่งเข้าหาความสัมพันธ์การจ้างงานที่มีลักษณะแบบปัจเจกชนบุคคลมากขึ้น

ตัวอย่างสำคัญในเรื่องนี้ คือ ผลจากกระแสโลกาภิวัตน์ทำให้ประเทศญี่ปุ่นโดนบีบจากตะวันตกโดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาให้ต้องเปิดเสรีในทุกๆด้าน มีการยืดหยุ่นกฎเกณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงาน ทั้งการปรับลดแรงงานแบบประจำที่มีเงินเดือนสูง การให้แรงงานเกษียณอายุก่อนกำหนดและการไม่รับพนักงานใหม่ รวมทั้งการจ้างแรงงานแบบไม่ประจำ เนื่องจากแรงงานแบบไม่ประจำสามารถจ้างได้ด้วยค่าแรงที่ไม่สูงมาก ไม่มีภาระเรื่องสวัสดิการต่างๆ และสามารถปรับปริมาณการจ้างได้ง่าย ทำให้ภาคธุรกิจต่างๆหันมาใช้แรงงานแบบไม่ประจำกันเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้ก็ไม่สามารถเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้เช่นเดียวกัน

            เมื่อมาพิจารณาวัฒนธรรมไทย พบว่า วัฒนธรรมการบริหารงานสหภาพแรงงานแบบญี่ปุ่น ยังสอดคล้องกับวัฒนธรรมไทยที่ให้ความสำคัญกับการปกครองแบบพ่อปกครองลูก คือ พระมหากษัตริย์ในฐานะบิดาทรงมีพระราชอำนาจเด็ดขาด ถ้าผู้ปกครองประเทศ คือ พระมหากษัตริย์ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมให้ความร่มเย็นเป็นสุขแก่ราษฎรเสมือนหนึ่งบุตร ประชาชนก็ย่อมจะได้รับความผาสุก แต่มองในอีกลักษณะหนึ่งการปกครองก็มีลักษณะเป็นข้ากับเจ้าหรือบ่าวกับนายก็ได้ เห็นได้จากรูปแบบการเมืองการปกครองยังคงรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง โครงสร้างอำนาจลดหลั่นกันแบบขั้นบันได ยึดมั่นในตัวบุคคลมากกว่าหลักการและเหตุผล โดยเฉพาะการให้ความนิยมต่อผู้ที่มีอำนาจ

            เหล่านี้จึงส่งผลต่อทัศนคติ ค่านิยม และความเชื่อของคนสังคมไทยที่ยังคงมองว่าแรงงานเป็น “ไพร่” หรือ “กรรมกร” ส่วนนายจ้างเป็น “ผู้ปกครอง” ทำให้รูปแบบการจ้างงานจึงยังเป็นไปในลักษณะ “นายกับบ่าว” มากกว่าการมองในฐานะ “หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ”

 

 

(2) เสรีนิยมใหม่ : การจัดความสัมพันธ์แบบใหม่ระหว่างนายทุน รัฐ และแรงงาน

            คำว่า “เสรีนิยมใหม่” (Neoliberalism) เป็นคำที่สะท้อนถึงภาพเศรษฐกิจโลกที่ถูกครอบงำโดยบรรษัทข้ามชาติ เป็นแนวคิดที่ผูกโยงแนบแน่นกับนโยบายเศรษฐกิจแบบ laissez-faire[4] ในเชิงปรัชญาเชื่อมั่นในเสรีภาพของปัจเจกบุคคล ตลาดเสรี การค้าเสรี กรรมสิทธิ์เอกชน เชื่อว่าความอยู่ดีกินดีของมนุษย์จะบรรลุได้ด้วยการปล่อยให้กลไกตลาดทำงานด้วยตัวเองโดยรัฐเข้ามาแทรกแซงให้น้อยที่สุด

กล่าวโดยง่าย “เสรีนิยมใหม่ไม่ใช่เรื่องประชาธิปไตย แต่เป็นเรื่องทางเศรษฐกิจที่เน้นความสำคัญของตลาด ที่ปล่อยให้มีการค้าขายเสรี มีกลไกตลาดเป็นตัวทำงาน โดยเชื่อว่าจะทำให้เกิดการจัดสรรและเคลื่อนย้ายทรัพยากรไปถึงผู้คนได้อย่างเหมาะสมที่สุด”

            ในมิติแรงงาน เสรีนิยมใหม่มองว่าแรงงานกับทุนควรจะได้รับค่าตอบแทนตามความคุ้มค่า รัฐไม่ควรเข้ามาแทรกแซงเพราะกลไกตลาดจะปรับตัวได้เอง ดังนั้นจึงไม่ควรมีสถาบันคุ้มครองทางด้านแรงงานหรือสถาบันทางด้านสวัสดิการสังคม โดยมองว่าสถาบันพวกนี้ทำให้เกิดเงินเฟ้อ เพราะตลาดไม่ได้เดินตามกลไกของมัน

            แนวคิดเสรีนิยมใหม่ก่อตัวขึ้นหลังความตกต่ำทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อประมาณ

ปี 1970 โดยการสนับสนุนผ่านบทบาทของสถาบันเศรษฐกิจระดับโลก เช่น ธนาคารโลก (World Bank) องค์การการค้าโลก (WTO) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)

            ในช่วงดังกล่าวได้เกิดชุดนโยบายเศรษฐกิจที่รู้จักกันในนาม “ฉันทามติวอชิงตัน” เมื่อปี 1989 ซึ่งมีนโยบายสำคัญ 5 ประการคือ

(1) การเปิดเสรีการค้าและสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการส่งออก

(2) การเปิดเสรีตลาดการเงินและเคลื่อนย้ายทุนการเงินอย่างเสรี

(3) มาตรการเข้มงวดทางการเงินการคลัง

(4) การแปรรูปกิจการของรัฐให้เป็นเอกชน

(5) การสร้างความยืดหยุ่นของตลาดแรงงาน

          ภายหลังการกำเนิดขึ้นของฉันทามติวอชิงตัน ประเทศทุนนิยมพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาทั่วโลกต่างตกอยู่ในกระแสของการทำหน้าที่ "สร้าง" และ "รักษา" กรอบการทำงานดังกล่าวด้วยการ "แปรรูปกิจการของรัฐ" "ปรับลดกฎระเบียบ" และ "เปิดเสรี" ทางการค้า

            แนวทางปฏิรูปเศรษฐกิจแบบฉันทามติวอชิงตันได้ถูกนำไปใช้เป็น “ยาสามัญประจำบ้าน” ด้วยสูตรสำเร็จที่ว่า “หากต้องการสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ต้องเปิดเสรี ลดการกำกับดูแล ลดขนาดรัฐบาล ส่งเสริมภาคเอกชน แปรรูปรัฐวิสาหกิจ และคุมเงินเฟ้อให้ต่ำ แล้วเงินต่างชาติจะไหลมาเทมา เศรษฐกิจชาติจะพัฒนาเติบโต” ดังนั้นการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศต่างๆจึงมักจะมาพร้อมกับการกำหนดเงื่อนไขการดำเนินนโยบายที่ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจตามที่เจ้าหนี้ต้องการ หาใช่การดำเนินการตามความต้องการของประชาชน

สมเกียรติ ตั้งนะโม ได้อธิบายเรื่อง “หลักการเสรีนิยมใหม่” ไว้อย่างน่าสนใจว่า  

(1)   เป็นการทำลายกฎระเบียบ ข้อบังคับ ขนบจารีต หรืออะไรที่เคยเป็นกรอบและเกราะของสังคม เช่น การมีกฎหมายคุ้มครอง การมีกำแพงภาษี เพื่อปกป้องการลงทุนในประเทศ หรือการมีสวัสดิการสำหรับแรงงาน สิ่งเหล่านี้จะถูกรื้อถอนเพื่อทำลายอุปสรรคของการลงทุนและการทำกำไรอย่างเสรี

(2)   เงินทุนสามารถไหลเวียนได้อย่างเสรีทั่วโลก ซึ่งเป็นผลมาจากการทำลายกฎระเบียบทางการลงทุน เพื่อให้ทุนขนาดใหญ่สามารถไหลไปลงทุนในธุรกิจที่มีกำไรประเทศไหนๆก็ได้ ทุนขนาดใหญ่เหล่านี้จะอยู่ในยุโรป ญี่ปุ่น สิงคโปร์ หรืออเมริกา และจะไหลไปลงทุนในประเทศที่ทำกำไรได้สูงสุดไม่ว่าจะที่ท้องถิ่นหรือชายขอบได้ก็ตามที่เอื้อประโยชน์ต่อการลงทุนได้มากที่สุดรวมทั้งประเทศไทยด้วย

(3)   รัฐมีบทบาทเพียงแค่วางนโยบายและเอื้อประโยชน์ให้กับการประกอบการเท่านั้น รัฐไม่ควรประกอบธุรกิจใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นรัฐวิสาหกิจจึงควรแปรรูปไปเป็นของเอกชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไฟฟ้า พลังน้ำ พลังงาน การสื่อสาร เหล่านี้ให้เป็นเรื่องของเอกชนที่จะเข้ามาจัดการและทำกำไร

เดวิด ฮาร์วีย์ (David Harvey) นักคิดระดับโลกที่มีบทบาทในการรื้อฟื้นแนวคิดเกี่ยวกับชนชั้นและทฤษฎีมาร์กซิสต์ ให้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการวิพากษ์ระบบทุนนิยมโลก ได้วิพากษ์ลัทธิเสรีนิยมใหม่ไว้ว่า

เศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ไม่ใช่การสร้างความมั่งคั่งให้เพิ่มพูนขึ้นอย่างที่กล่าวอ้าง แต่กลับทำให้เกิดการจัดสรรความมั่งคั่งใหม่ โดยถ่ายโอนความมั่งคั่งจากชนชั้นล่างไปสู่ชนชั้นนำ ผลจากเสรีนิยมใหม่ทำให้ช่องว่างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจระหว่างคนรวยกับคนจนถ่างกว้างมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็คือ เกิดระบอบการสะสมทุนที่ย้อนกลับไปเสมือนเมื่อเริ่มต้นของระบบทุนนิยม ซึ่งมีลักษณะสำคัญ คือ การปล้นชิงทรัพยากรและความมั่งคั่งในดินแดนต่างๆ ด้วยการเปลี่ยนสรรพสิ่งที่ไม่เคยเป็นสินค้าให้เป็นสินค้า เช่น สาธารณสมบัติ พันธุกรรม การศึกษา วัฒนธรรม ฯลฯ โดยอาศัยการแปรรูปสิทธิบัตรและทรัพย์สินทางปัญญา

ลักษณะประการต่อมาคือ การขยายอำนาจของภาคการเงินที่เรียกกันว่าธนานุวัตร เน้นการเก็ง
กำไรระยะสั้น ซึ่งทำสำเร็จได้ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารและการลดกฎเกณฑ์ในภาคการเงิน การเก็งกำไรระยะสั้นก่อให้เกิดวิกฤตการณ์การเงินในหลายประเทศ จากนั้นทุนการเงินข้ามชาติจะถือโอกาสเข้าไปบริหารจัดการและแสวงหาประโยชน์จากวิกฤติการณ์ดังกล่าว เมื่อประเทศที่อ่อนแอตกอยู่ในกับดักหนี้สิน สถาบันการเงินอย่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็จะเข้าไปช่วยเหลือ โดยแลกกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งหมายถึงการแปรรูปสาธารณูปโภคเป็นของเอกชน การตัดสวัสดิการสังคม และการเปิดเสรีมากขึ้นนั่นเอง

ลัทธิเสรีนิยมใหม่ยังสะสมทุนได้มากขึ้น ด้วยการปรับเปลี่ยนสัญญาธุรกรรมส่วนใหญ่ให้เป็นสัญญาระยะสั้นโดยเฉพาะในตลาดแรงงาน ระบบที่ทำลายความมั่นคงของการมีงานทำเช่นนี้นอกจากทำให้ค่าแรงต่ำลงแล้ว ยังทำให้ชนชั้นแรงงานอ่อนแอลงและไม่สามารถคานอำนาจกับชนชั้นนำได้อีกต่อไป เพราะแรงงานจำนวนมากจะกลายเป็นแรงงานที่อยู่ในภาคนอกระบบทำให้เกิดการจัดตั้งขบวนการแรงงานได้ยากขึ้น

ดังนั้นเมื่อมาพิจารณาผลกระทบต่อแรงงานในภาคอุตสาหกรรมประเทศไทยโดยตรง พบว่า เสรีนิยมใหม่ได้มาพร้อมกับระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา เพราะเสรีนิยมใหม่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพของปัจเจกตามศักยภาพ  แต่ละเลยเรื่องคุณธรรมและความเท่าเทียม เป็นระบบการผลิตที่ยิ่งผลิตมากยิ่งได้ต้นทุนถูก แรงงานจึงถูกดึงเข้าสู่ระบบการผลิตแบบตลาด เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานจากชนบทในภาคเกษตรกรรมเข้าสู่เมืองในภาคอุตสาหกรรม การเกิดขึ้นมาของแรงงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ การเข้ามาของแรงงานข้ามชาติ และนำมาสู่ปัญหาการละเลยด้านการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เนื่องจากมีการแก้ไขกฎหมายกฎระเบียบของรัฐเพื่อเอื้อต่อนายทุนเพื่อให้สินค้ามีกำไรสูงขึ้น เช่น การปรับเปลี่ยนระบบแรงงานให้ยืดหยุ่น และลดสวัสดิการที่ให้กับแรงงานและลดสวัสดิการทางสังคมซึ่งมักมองว่าเป็น “ภาระทางเศรษฐกิจ”

อีกทั้งยังมีความพยายามที่จะคงค่าแรงในอัตราเดิมๆ หรือการลดค่าแรง จำกัดโอที ลดสวัสดิการและบริการต่างๆ ของแรงงานลงให้มากที่สุด ระบบการจ้างงานจึงเป็นลักษณะการจ้างงานชั่วคราว/รายสัญญา หรือต่อสัญญาไปเรื่อยๆ เน้นการจ้างงานกับกลุ่มแรงงานที่ไม่มีอำนาจต่อรอง เช่น  เด็ก แรงงานข้ามชาติที่ไม่ถูกกฎหมาย นักโทษ นักศึกษา ทหารเกณฑ์ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้คนงานกลุ่มนี้ได้มีโอกาสรวมตัว

เสรีนิยมใหม่ในประเทศไทยจึงมีส่วนทำลายแรงงานไม่ว่าจะในด้านสุขภาพ การศึกษา สวัสดิการ เพราะสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดล้วนเป็นต้นทุนหรือรายจ่ายที่ไม่ทำกำไรให้รัฐและทุนแทบทั้งสิ้น แต่แรงงานต้องเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงจากระบบเศรษฐกิจแบบนี้

อีกประการสำคัญที่ต้องพิจารณามากขึ้น กล่าวคือ ในปี 2558 จะมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจ (The ASEAN Economic Community หรือ AEC) ซึ่งพิมพ์เขียวของ AEC ก็คือ การแสดงเจตจำนงของอาเซียนว่าจะเดินบนวิถีเสรีนิยมใหม่ โดยคาดหวังว่าเส้นทางนี้จะนำไปสู่การขยายตลาด เพิ่มการลงทุน สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและนำมาซึ่งชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในภูมิภาคอย่างถ้วนหน้า

ดังนั้นสิ่งที่ประเทศอาเซียนพยายามดำเนินการในขณะนี้เพื่อนำไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ก็คือ การลดอุปสรรคกีดขวางการเคลื่อนที่ของทุน ปกป้องคุ้มครองทุน และเร่งสร้างผู้ประกอบการเพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนทุนด้วยมาตรการทางด้านภาษี คือ การตัด ปรับ ลดภาษีลงให้ต่ำที่สุดหรือให้ไม่ต้องเสียภาษีเลย

เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวประเทศสมาชิกอาเซียนจึงต้องเจรจาทำข้อตกลงเรื่องการค้าและตลาดเสรีในกรอบต่างๆ เช่น  AFTA (ASEAN Free Trade) 1992, AFAS (ASEAN Framework Agreement on Services) 1995, AIA (ASEAN Investment Area) 1998, พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางบก ทางน้ำ ทางอากาศและไซเบอร์, แก้ไขอุปสรรคบริเวณชายแดนและหลังชายแดน, สร้างบุคลากร หลักสูตรการศึกษา ร่วมกันผลิตงานวิจัยและจัดตั้งหน่วยงานวิจัยคลังสมอง หน่วยงานการเงินเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลง และเตรียมเฝ้าระวังปัญหาอุปสรรค
กีดขวางทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

อีกทั้งยังเอื้ออำนวยให้นักลงทุนอเมริกัน ยุโรป ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน ได้มีความสะดวกสบายในการลงทุนมากขึ้น บริษัทต่างชาติสามารถถือครองหุ้นได้มากกว่า 50% สามารถโยกย้ายเงินทุน ตั้งโรงงานผลิต ขนส่งด้วยมาตรฐานเดียวกันทั้งภูมิภาค

            อย่างไรก็ตามหากศึกษาบทเรียนจากประเทศที่เปิดรับเสรีนิยมใหม่ เช่น ญี่ปุ่น เสรีนิยมใหม่กลับนำมาสู่ปัญหาการตัดงบประมาณด้านสวัสดิการสังคม ลดอำนาจต่อรองของสหภาพแรงงาน เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจรัฐบาลก็มักจะมุ่งช่วยธุรกิจขนาดใหญ่ด้วยภาษีประชาชน ภาระจึงจะตกอยู่กับแรงงานซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ ผู้ซึ่งถูกตัดลดสวัสดิการ แบกภาระภาษีและหนี้สินมาก

ดังนั้นพิมพ์เขียวของ AEC ที่เน้นการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาค ทำให้ภาคธุรกิจกระฉับกระเฉงมีชีวิตชีวา แต่มีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของแรงงาน โดยเฉพาะในเรื่องของความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมและการเข้าไม่ถึงความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน

 

(3) การต่อรองของแรงงานภาคอุตสาหกรรมประเทศไทยในฐานะ “ผู้กระทำการ” (Agency)

วัฒนธรรมนายกับบ่าวและเสรีนิยมใหม่ทำให้คนงานภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยต้องยอมรับในระเบียบวินัยอุตสาหกรรม และทำให้นายทุนสามารถควบคุมคนงานได้อย่างเบ็ดเสร็จ ในบริบทของเสรีนิยมใหม่ซึ่งมีฐานคิดสำคัญที่มองว่าแรงงานเป็นเพียงปัจเจกชนและมีตลาดเป็นกลไกหลักเพียงอย่างเดียวในการจัดการแรงงาน  ดังนั้นเสรีนิยมใหม่จึงทำให้แรงงานในฐานะปัจเจกยากต่อการรวมตัว สังคมจึงไม่รู้ว่าชะตาชีวิตที่แท้จริงของแรงงานกลุ่มนี้ในรั้วโรงงานมีสภาพชีวิตอย่างไร อยู่อย่างไร ชะตากรรมของแรงงานกลายเป็นเพียงชะตากรรมของปัจเจกชนคนหนึ่งในสังคมไทยเท่านั้น

แน่นอนแรงงานต้องเผชิญกับแรงกดดันมากมาย แต่พวกเขาก็ไม่ได้สยบยอมกับการถูกเอาเปรียบ  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น แรงงานในภาคอุตสาหกรรมจำนวนมากรับค่าแรงแค่วันละ 300 บาท กับหนุ่มสาวออฟฟิศเงินเดือนห้าหกหมื่น แต่เวลาซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคก็ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT 7% เท่ากัน แต่ทั้งๆที่คนมีความสามารถในการจ่ายไม่เท่ากัน แต่กลไกทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่กลับผลักภาระให้คนด้อยโอกาสในสังคมต้องจ่ายภาษีมากกว่า เป็นต้น

หรือการทำงานของแรงงานในภาคอิเลคทรอนิคส์ในนิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกประเทศไทย ที่ต้องสัมผัสกับสารเคมีและรังสีปนเปื้อนอยู่ตลอดเวลา คำถามก็คือในเวลานี้ประเทศไทยมีแพทย์ที่รู้เรื่องสาเหตุความเจ็บป่วยในโรงงานกี่คน จะมีแพทย์คนไหนที่ศึกษาว่าโรงงานสร้างปัญหาให้กระทบให้กับคนงานจนเจ็บป่วยสะสมและเสียชีวิตในที่สุด ว่าเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมในโรงงานที่เลวร้ายต่อคุณภาพชีวิตคนงาน กล่าวได้ว่านี้คือสิ่งที่ทุนดึงเอาส่วนเกินไปจากแรงงาน

ดังนั้นการต่อรองของแรงงานภาคอุตสาหกรรมผ่านการจัดตั้งองค์กร CILT จึงแสดงให้เห็นถึงปฏิบัติการในชีวิตประจำวันของแรงงาน ที่ก่อรูปขึ้นภายใต้การจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างรัฐ ทุน แรงงาน ในรูปแบบใหม่ ที่ตระหนักถึงการสร้างขึ้นของพื้นที่แบบใหม่ (space) ที่ให้ความสำคัญกับแรงงานมากเท่ากับทุน ถือเป็นการโต้แย้งกับแนวคิดของรัฐไทยที่มีเจตจำนงในการพยายามกำหนดการรวมตัวของแรงงานให้อยู่เฉพาะในกรอบของกฎหมายแรงงานสัมพันธ์เท่านั้น และมองการรวมตัวของแรงงานที่นอกเหนือจากที่กฎหมายแรงงานสัมพันธ์บัญญัติไว้เป็นเรื่องผิดกฎหมายหรือท้าทายอำนาจรัฐ

ทั้งนี้เมื่อประเมินทิศทางสถานการณ์แรงงานในช่วงปีนี้จนถึงอีก 5 ปีข้างหน้า คือ ในปี 2560 จะพบว่า

(1) กระแสโลกาภิวัตน์และเสรีนิยมใหม่ยังมีความรุนแรง การแข่งขันมีสูงและยิ่งทำให้เกิดรูปแบบการจ้างงานแบบยืดหยุ่นมากขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดน และผลักแรงงานในระบบสู่ภาคนอกระบบมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การเอารัดเอาเปรียบแรงงานกลุ่มนี้มากขึ้นอย่างแน่นอน

(2) การให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 จะก่อให้เกิดการรวมตัวอย่างชัดเจนของแรงงาน นำมาสู่กระแสการเรียกร้องเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มอำนาจแรงงานกลุ่มต่างๆ การรวมตัวและการเจรจาต่อรองถูกยกระดับเป็นสิทธิที่รัฐต้องยอมรับ เพราะกฎหมายกำหนดและต้องให้การคุ้มครองแรงงานที่ไม่มีสหภาพ

(3) กระบวนการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำจะมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่าค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อใคร (นายจ้างหรือลูกจ้าง) เพราะแรงงานจะเรียกร้องค่าจ้างที่เป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งทำได้ 2 ทาง คือ โดยรัฐแทรกแซง และการเจรจาต่อรองระหว่างลูกจ้างและนายจ้างอย่างเสมอภาค เพราะที่ผ่านมาการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำประเทศไทยเป็นการฝืนระบบตลาดโดยรักษาให้ประเทศไทยเป็นประเทศค่าแรงงานต่ำตามหลัก 3L คือ low Skill Low Wages และ Long Working

(4) การอยู่ร่วมกับแรงงานข้ามชาติและจักต้องอยู่ด้วยอย่างเห็นคุณค่าและเคารพสิทธิแรงงาน

(5) ขบวนการแรงงานจะถูกท้าทายจากกระแสโลกาภิวัตน์ ต้องปรับโครงสร้างให้ชัดเจนและเชื่อมโยงกับสากลให้มากขึ้นเพื่อให้การเคลื่อนไหวมีประสิทธิภาพ

            ดังนั้นภายใต้สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นและทางเลือกเพื่อเป็นทางออกในยุคเสรีนิยมใหม่ สิ่งที่แรงงานต้องเรียนรู้เป็นอันดันแรก คือเรียนรู้จากสถานการณ์แรงงานไทย และบทเรียนจากการถูกกดขี่ของแรงงานทั่วโลกว่าได้รับผลกระทบจากเสรีนิยมใหม่นี้อย่างไร โดยมีการคิดวิเคราะห์ว่าการแก้ปัญหาในประเทศต่างๆมีทางออกต่อเรื่องนี้อย่างไร เพื่อประยุกต์ปัญหาและการแก้ไขให้เข้ากับสถานการณ์ในประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การวางแผนให้เหมาะกับสถานการณ์และนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป

การต่อสู้ของแรงงานเพื่อก้าวข้ามวัฒนธรรมนายกับบ่าวในสหภาพแรงงานซึ่งเป็นปัจจัยภายใน และเสรีนิยมใหม่ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอก จึงเป็นการยืนยันว่าแรงงานเป็นคน ไม่ใช่สินค้าหรือเป็นปัจจัยการผลิตแบบที่รัฐและทุนมอง แต่เป็นเพราะกฎระเบียบและเงื่อนไขทางวัฒนธรรมของประเทศไทยต่างหากที่ลดทอนความเป็นคนจากตัวแรงงาน   ซึ่งในการต่อสู้ของแรงงานนั้น  CILT ก็คือการพยายามรวมการต่อสู้ขององค์กรแรงงานที่ต่างคนต่างสู้มาสู้ร่วมกัน บรรดาข้อเรียกร้องต่างๆจะตั้งอยู่บนฐานว่าแรงงานเป็นคนและมีศักดิ์ศรี เป็นผู้ทำหน้าที่ส่งเสริมเศรษฐกิจให้รัฐโดยภาพรวม ด้วยเหตุนี้รัฐจึงจำเป็นต้องหันกลับมาดูแลแรงงาน เพราะรัฐต้องมีบทบาทในการดูแลคนที่สร้างสรรค์เศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนั้นแล้ว CILT ยังมีการยกระดับการต่อสู้ไปสู่สากล นั่นคือการเชื่อมกับสภาแรงงานอุตสาหกรรมสากล หรือ IndustriALL Global Union

นี้จึงเป็นภาพสะท้อนสำคัญว่าบทบาทของนักวิชาการ หรือนักพัฒนาในองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน ณ วันนี้มีข้อจำกัด และไม่สามารถฝากความหวังไว้ได้เพียงกลไกเดียว การรวมตัว เจรจาต่อรอง เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง สร้างเครือข่ายโยงใยเพื่อขับเคลื่อนความไม่เป็นธรรมต่อการจ้างงานของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมภายใต้องค์กร CILT จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ท้าทาย เป็นสังคมที่แรงงานตื่นตัวและไม่ได้งอมืองอเท้า รอคอยความหวังจากกระทรวงแรงงานที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นสังคมที่ผู้แบกรับความเสี่ยงจากการพัฒนาอุตสาหกรรมลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง

ดังนั้นแล้วการอธิบายและทำความเข้าใจแรงงานในภาคอุตสาหกรรมประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีการพิจารณาแรงงานกลุ่มนี้ในฐานะที่เป็นผู้กระทำการทางสังคม (Agency) ที่ไม่ได้รอรับผลจากการปรับเปลี่ยนกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 หรือการที่ประเทศไทยให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อเอื้อให้แรงงานสามารถรวมกลุ่มและเจรจาต่อรองได้อย่างเสมอภาคกับรัฐและทุนเพียงเท่านั้น

สิ่งที่ควรจะนำมาพิจารณา คือ แรงงานกลุ่มนี้มีกลยุทธ์ในการต่อรองกับรัฐและทุนในประเทศไทยอย่างไร โดยเฉพาะการต่อสู้กับปัญหาการจ้างงานไม่มั่นคง การจ้างเหมาแรงงานทุกรูปแบบ ตลอดจนการผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมายแรงงานเพื่อการคุ้มครองสิทธิการรวมกลุ่มและการเจรจาต่อรองร่วม นี้เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องศึกษาต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะการต่อรองเพื่อสร้างอำนาจที่แท้จริงให้เกิดเป็นรูปธรรมตามวัตถุประสงค์ 10 ข้อที่ CILT ได้กำหนดไว้ คือ

(1)   เสริมความเข้มแข็งของสหภาพ

(2)   จัดตั้งและเพิ่มสมาชิกสหภาพ

(3)   ต่อสู้เพื่อสิทธิสหภาพแรงงาน

(4)   ต่อสู้กับงานที่ไม่มั่นคง

(5)   สร้างอำนาจของสหภาพแรงงานในการต่อกรกับทุนระดับสากล

(6)   ส่งเสริมนโยบายอุตสาหกรรมและความยั่งยืน

(7)   ความยุติธรรมทางสังคมและโลกาภิวัตน์

(8)   สิทธิที่เท่าเทียมและการมีส่วนร่วมของสตรี

(9)   สถานที่ทำงานที่ปลอดภัย

(10)  ประชาธิปไตยและความเที่ยงธรรม

ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า

          “การควบรวมขององค์กรแรงงานพัฒนามาเป็น CILT ถือว่าเป็นปรากฏการณ์สำคัญ และอาจเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของขบวนการแรงงานไทย แต่ก็ยังคงต้องติดตามกระบวนการควบรวมต่อไป เพราะจากประสบการณ์ในอดีตบอกว่ามิใช่เรื่องง่ายนัก เพราะการควบรวมองค์กรระดับชาติ คือ การยุบสลายองค์กรเดิมลง ซึ่งต้องดูว่าจุดนี้น่าจะมีแรงเสียดทานพอสมควร แต่นี่เป็นเรื่องที่ขบวนการแรงงานไทยต้องพัฒนาต่อไปให้ได้จริง”

แต่อย่างน้อย ณ วันนี้ กล่าวได้ชัดเจนว่าการเกิดขึ้นมาของ CILT ในที่สุดแล้วก็ไม่ได้ขัดแย้งกับกฎหมายแรงงานสัมพันธ์แต่อย่างใด เพราะองค์กรที่มารวมตัวก็ประกอบไปด้วยสหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงานที่จดทะเบียนตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ทั้งนั้น

หากแต่นี้คือการผลิตซ้ำตัวตนแรงงานบนเงื่อนไขใหม่ โดยอาศัยเงื่อนไขของเสรีนิยมใหม่ที่แรงงานต้องปะทะประสาน ผ่านวิธีคิดใหม่เรื่องประชาธิปไตยและเสรีภาพของการรวมตัวและเจรจาต่อรอง เพื่อเป็นการนิยามหรือสร้างความหมายใหม่ขององค์กรแรงงานในฐานะที่เป็นรูปแบบการต่อสู้อย่างหนึ่ง เพื่อให้ได้มาซึ่งความมั่นคงในการจ้างงานและคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคตของแรงงานภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยนั่นเอง

 

 

 








[1] เอกสารฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนางานวิชาการ คสรท. เรื่อง การจ้างงานที่ไม่มั่นคง โดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (ยุทธศาสตร์ที่สาม-การจัดตั้ง) และมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท -FES (สิงหาคม – ธันวาคม 2556) โดยเห็นว่าการเกิดขึ้นมาของสมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (CILT) วัตถุประสงค์หนึ่งที่สำคัญ คือ การต่อสู้-ต่อต้านงานที่ไม่มั่นคงในทุกรูปแบบในประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับโครงการฯที่คาดหวังว่าหลังดำเนินโครงการเสร็จสิ้น จะได้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและรูปธรรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการคุ้มครองคนงานกลุ่มที่มีสภาพการจ้างงานที่ไม่มั่นคงในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ภาคอุตสาหกรรมอิเลคทรอนิคส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ยาง และเคมีภัณฑ์ในประเทศไทย ซึ่งผู้เขียนในฐานะ “คณะวิจัย” ร่วมกับนายชาลี ลอยสูง นายยงยุทธ เม่นตะเภา นายสพรั่ง มีประดิษฐ์ นายลาเร่
อยู่เป็นสุข นายประสิทธิ์ ประสพสุข นายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย นายประวิทย์ ธรรมรักษ์ นายชาญเมธินทร์ โชติสวัสดิ์ เห็นร่วมกันว่า CILT เป็นคำตอบหนึ่งที่น่าสนใจในเรื่องดังกล่าวนี้

[2] ปัจจุบัน CILT มีที่ตั้งสำนักงานอยู่ที่เลขที่ 1/466 หมู่ 14 ซอยบางแสน 2 ถนนสุขุมวิท ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ 

[3] OECD เป็นองค์กรที่เน้นแนวปฏิบัติสำหรับบรรษัทข้ามชาติที่ไปลงทุนในประเทศต่างๆเพื่อคุ้มครองคนงานทุกคนที่อยู่ภายใต้การบริหารของบรรษัทข้ามชาติในทุกโรงงานในทุกประเทศ ให้ได้รับการปฏิบัติไม่แตกต่างกัน ปัจจุบัน OECD มีสมาชิก 34 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรีย,
เบลเยี่ยม, เดนมาร์ก, ฝรั่งเศส, กรีซ, ไอซ์แลนด์, ไอร์แลนด์, อิตาลี, ลักเซมเบิร์ก, นอร์เวย์, เนเธอร์แลนด์ ,โปรตุเกส, แคนาดา , อังกฤษ, สวีเดน, สวิตเซอร์แลนด์, ตุรกี, สหรัฐอเมริกา,เยอรมนี , ชิลี, เช็ก, อิสราเอล,เม็กซิโก, ฮังการี, ออสเตรเลีย ,นิวซีแลนด์, เกาหลีใต้,โปแลนด์, อิหร่าน, เอสโตเนีย, สโลวาเกีย, สโลวีเนีย , ญี่ปุ่น , รัสเซีย

[4] คำว่า "Laissez-faire" เป็นคำภาษาฝรั่งเศส ซึ่งมีความหมายตามตัวอักษรว่า "ปล่อยให้ทำไป" จัดเป็นนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมรูปแบบหนึ่ง เป็นการปล่อยให้อุตสาหกรรมดำเนินการไปโดยปราศจากการแทรกแซงของรัฐบาล

Visitors: 22,082