สถานการณ์แรงงาน

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 29 ม.ค. - 4 ก.พ. 2557

Tue, 2014-02-04 15:05

เตือนแรงงานอย่าลองดี! เกาหลี กม.แรง หมดสัญญาจ้างอยู่ต่อเจอโทษหนัก

นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ปัจจุบันทางประเทศเกาหลีได้ออกมาตรการสำคัญในการผลักดันและลดจำนวนผู้ที่ลักลอบพำนัก ทำงานอย่างผิดกฎหมายในประเทศ โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ 1.การสมัครใจเดินทางกลับเองโดยจะให้ผู้ที่ทำงานครบกำหนดตามสัญญาจ้างแล้วเดินทางกลับประเทศ ซึ่งจะโอนเงินสิ้นสุดสัญญาจ้างให้เมื่อเดินทางกลับถึงประเทศแล้วหรือจ่ายให้หลังจากที่ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง (ขาออก) 2.ระดับการกวาดล้างผู้อาศัยอย่างผิดกฎหมายโดยจะทำการบุกจับผู้ที่อาศัยหรือทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานผิดประเภท ซึ่งจะไม่มีการจ้างเตือนล้วงหน้าและจะทำการตรวจจับโดยแจ้งล่วงหน้า 250 ครั้งต่อปี และ 3.ระดับการลงโทษแก่ผู้ฝ่าฝืน โดยนายจ้างที่จ้างแรงงานต่างชาติแบบผิดกฎหมายจะได้รับการลงโทษโดยไม่อนุญาตให้จ้างแรงงานต่างชาติในทันทีและรับโทษตามกฎหมาย ส่วนแรงงานต่างชาติจะไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศเกาหลีได้อีก ในกรณีนี้จะมีการเสียค่าปรับคือ กรณีอาศัยโดยผิดกฎหมายน้อยกว่า 1 เดือนปรับ 100,000 วอน มากกว่า 1 เดือนถึง 3 เดือน ปรับ 1,500,000 วอน มากกว่า 3 เดือนถึง 6 เดือน ปรับ 2,000,000 วอน และมากกว่า 6 เดือน ถึง 1 ปีขึ้นไป ปรับ 4,000,000 วอน

อธิบดี กกจ.กล่าวอีกว่า กรมการจัดหางานจึงขอเตือนประชาชน หรือคนหางานที่จะเดินทางไปทำงานประเทศเกาหลีให้เดินทางไปทำงานอย่างถูกกฎหมาย และเดินทางกลับเมื่อครบกำหนดสัญญาจ้าง เพราะหากอาศัยอยู่หรือทำงานแบบผิดกฎหมายจะถูกปรับเงิน ซึ่งจะไม่คุ้มค่าต่อการทำงาน และเป็นการเสียโอกาสในการเดินทางไปประเทศเกาหลี ส่งผลเสียต่อการทำงานของแรงงานไทยในอนาคตและภาพลักษณ์ของประเทศไทยด้วย

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 30-1-2557)

พม. ย้ำให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการปฏิบัติตามกฎหมายจ้างงานคนพิการ

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (พก.) ย้ำให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการปฏิบัติตามกฎหมายจ้างงานคนพิการ และส่งรายงานการปฏิบัติตามกฎหมายจ้างงานคนพิการ ตามที่สำนักงานใหญ่ของสถานประกอบการตั้งอยู่ ทั้งนี้ หากนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการปฏิบัติไม่ครบถ้วนภายในวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๗ ต้องเสียดอกเบี้ยจากเงินต้น(อัตราค่าจ้างขั้นต่ำสุดของประเทศ x ๓๖๕ x จำนวนคนพิการ) ในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ตั้งแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ เป็นต้นไป

กองกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๒๓ ซึ่งให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งใน สํานักงาน เรียกว่า “กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ” เพื่อเป็นทุนสําหรับการใช้จ่ายเกี่ยวกับการคุ้มครองและพัฒนาสมรรถภาพคนพิการ การศึกษาและการประกอบอาชีพของคนพิการ รวมทั้งการส่งเสริมและการสนับสนุนการดําเนินงานขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ โดยจัดสรรให้อย่างเป็นธรรมและทั่วถึง ซึ่งการดำเนินงานของกองทุนฯ ในปัจจุบัน คือ ๑) การให้กู้ยืมเงินเพื่อเป็นทุนประกอบอาชีพหรือขยายกิจการ ได้แก่ คนพิการ ผู้ดูแลคนพิการ และกลุ่มคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ ๒) การสนับสนุนโครงการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ๓) ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนพิการในสถานประกอบการ

กรณี กู้ยืมเงินเพื่อเป็นทุนประกอบอาชีพหรือขยายกิจการโดยคนพิการที่มีสิทธิกู้ยืมเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพได้แก่ คนพิการ ผู้ดูแลคนพิการ และกลุ่มคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ โดยกรณีคนพิการจะกู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้ ๑) มีบัตรประจำตัวคนพิการ ๒) มีความจำเป็นในการขอรับการสนับสนุนเพื่อประกอบอาชีพในท้องถิ่นที่ยื่นคำขอ ๓) มีความสามารถในการประกอบอาชีพที่ขอรับการสนับสนุน ๔) บรรลุนิติภาวะ เว้นแต่ คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนจะเห็นเป็นอย่างอื่น ๕) มีชื่อในทะเบียนบ้านหรือมีที่อยู่ถาวรในท้องที่ที่ยื่นคำขอไม่น้อยกว่า ๙๐ วัน ๖) ไม่มีประวัติเสียหายในการกู้เงินจากกองทุน เว้นแต่ได้ดำเนินการแก้ไขแล้วไม่น้อยกว่า ๑ ปี หรือเป็นกรณีคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนจะเห็นเป็นอย่างอื่น ๗)กรณีมีหนี้สินอยู่กับกองทุนต้องชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ ๖๐ ของวงเงินกู้ทั้งหมดและเมื่อได้รับการอนุมัติแล้วต้องชำระหนี้สินที่มีอยู่เดิมทั้งหมด ๘) มีความสามารถชำระคืนเงินกู้ยืมได้และมีบุคคลที่น่าเชื่อถือได้เป็นผู้ค้ำ

กรณีผู้ดูแลคนพิการจะกู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้ ๑) มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับคนพิการในข้อ ๒-๘ ๒)ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย ๓) ได้รับการรับรองเป็นหนังสือว่าเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนพิการ จากผู้แทนองค์กรด้านคนพิการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ผู้นั้นมีภูมิลำเนาข้าราชการระดับ ๓ หรือเทียบเท่าขึ้นไป หรือมีหลักฐานเชื่อได้ว่าเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการซึ่งมิได้มีหนี้จากกองทุน

ส่วนกรณีจะกู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพเป็นรายกลุ่มต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้ ๑) มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับกรณีคนพิการ หรือ กรณีผู้ดูแลคนพิการ ๒) เป็นการรวมตัวกันโดยมีผลประโยชน์และวัตถุประสงค์ร่วมกันเพื่อช่วยเหลือสนับสนุนกันเป็นกิจกรรมที่ชอบด้วยกฎหมายและศีลธรรม มีความต่อเนื่องและมีระบบบริหารจัดการ ต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า ๒ คน ๓) มีหลักฐานจากสถาบันการเงินเกี่ยวกับการออมเงินของกลุ่มอย่างสมํ่าเสมอมาแล้วไม่น้อยกว่า ๖ เดือน ๔) ดำเนินกิจการของกลุ่มในท้องที่จังหวัดที่ยื่นคำขออย่างต่อเนื่องจนวันที่ยื่นคำขอไม่น้อยกว่า ๖ เดือน ๕) ได้รับการรับรองเป็นหนังสือรับรองจากองค์กรด้านคนพิการที่เป็นนิติบุคคลหรือหน่วยงานของรัฐว่าเป็นกลุ่มที่มีผลงานน่าเชื่อถือจริง ๖) มีแผนงานหรือโครงการของกลุ่มที่จะดำเนินการต่อไปอย่างชัดเจน

สำหรับกรอบวงเงินที่ให้กู้และกำหนดชำระหนี้ของกองทุนฯ แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ ๑) รายบุคคลไม่เกินรายละ ๔๐,๐๐๐ บาท ผ่อนชำระภายใน ๕ ปี โดยไม่มีดอกเบี้ย และ ๒) รายกลุ่ม ไม่เกิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ผ่อนชำระภายใน ๕ ปี โดยไม่มีดอกเบี้ย ทั้งนี้ วงเงินเฉลี่ยต่อบุคคลไม่เกิน คนละ ๔๐,๐๐๐ บาท การชำระคืนเป็นไปตามวิธีการและเงือนไขที่คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนให้ความเห็นชอบ โดยคำนึงถึงประเภทอาชีพที่ยื่นขอกู้ยืมเงินของแต่ละบุคคลหรือกลุ่มแล้วแต่กรณี หากประชาชนมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติ่ม ติดต่อได้ที่กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ โทร ๐๒-๓๕๔-๓๓๘๘ ต่อ ๑๒๗ ๑๒๓

(กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, 31-1-2557)

แรงงานฝีมือส่อเค้าขาดแคลนหนัก จนเกิดเหตุแย่งชิงกันหน้าไซต์งาน

นายกฤษดา จันทร์จำรัสแสง อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า ในปี 2557-2558 นี้คาดว่าอาจจะเกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานมากขึ้น โดยเฉพาะแรงงานที่มีฝีมือในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งปัจจุบันแรงงานกลุ่มดังกล่าวกำลังเป็นที่ต้องการมาก เป็นผลมาจากการปรับค่าครองชีพ ทำให้กลุ่มผู้รับเหมาสามารถเรียกร้องค่าแรงได้ตามความเป็นจริงในตลาด

“ค่าเหนื่อยหรือค่าแรงงานจะมากน้อยเท่าไหร่ ผู้รับเหมาก่อสร้างก็สามารถเรียกจากเข้าของโครงการหรือผู้ว่าจ้างได้ และโดยส่วนตัวก็เพิ่งจะเคยพบกับเรื่องนี้ในรอบ 30 ปีที่ทำธุรกิจมาเลยทีเดียว และยังมีข้อเท็จจริงอีกว่า มีเหตุการณ์แย่งชิงแรงงานชนิดประชิดไซต์งาน ถึงขนาดค่าแรงแพงแค่ไหนก็สู้ ซึ่งตามปกติค่าแรงจะอยู่ที่ประมาณ 300-350 บาทต่อวัน แต่ขณะนี้ช่างเชื่อมจ้างกันที่ 400-500 บาทต่อวัน ช่างก่ออิฐฉาบปูน 220 บาทต่อตารางเมตร เป็นอัตราที่สูงกว่าที่หน่วยงานราชการต่างๆที่ว่าจ้างเพียง 130 บาทต่อตารางเมตรเท่านั้น นอกจากนี้ผู้รับเหมาบางส่วนยังฉวยจังหวะโก่งค่าตัว ก่อนจะรับงานก็ขอขยับราคาขึ้นอีกอย่างน้อย 5-10% เพราะค่าแรงพุ่ง ต้นทุนก็เพิ่ม”นายกฤษดา กล่าว

อย่างไรก็ตาม ตนประเมินว่าภาวะดังกล่าว น่าจะอยู่คู่กับอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างไปอีกประมาณ 3-4 ปี หรือจนกว่าเทคโนโลยีการก่อสร้างสำเร็จรูป (พรีแฟบ) จะเข้ามามีบทบาท มากขึ้น หรืออย่างน้อยทดแทนแรงงานได้มากกว่าในปัจจุบัน ก็จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของภาคอสังหาริมทรัพย์ได้มากกว่านี้ แม้ปัจจุบันผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์หลายราย โดยเฉพาะรายใหญ่ต่างๆ จะเริ่มมีการนำระบบการก่อสร้างสำเร็จรูปเข้ามาใช้บ้างแล้วก็ตาม เพื่อหวังลดต้นทุนการผลิตและการใช้แรงงาน

(แนวหน้า, 3-2-2557)

เผยข้อมูลว่างงาน-เลิกจ้าง ธ.ค.56 ไม่น่าห่วงแต่ต้องเฝ้าระวัง

นายสุเมธ มโหสถ รองปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) เปิดเผยว่า สำนักเศรษฐกิจการแรงงาน กระทรวงแรงงาน ได้รายงานเผยข้อมูลด้านแรงงานประจำเดือนธันวาคม 2556 พบว่า สถานการณ์การจ้างงานมีลูกจ้างที่มีนายจ้างในระบบประกันสังคมมาตรา 33 จำนวน 9,425,478 คน อัตราการขยายตัวอยู่ที่ ร้อยละ 4.10 อัตราการเปลี่ยนแปลงของเดือนธันวาคม 2556 เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2556 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.77  เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2556 ร้อยละ 3.44 ซึ่งยังอยู่ในภาวะปกติ  

รองปลัด รง. กล่าวอีกว่า ส่วนสถานการณ์การว่างงาน พบว่า มีผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคมเดือนธันวาคม 2556 จำนวน 95,090 คน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จำนวน 88,063 คน แสดงให้เห็นว่าผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา หากเทียบระหว่างเดือนธันวาคม 2556 กับเดือนพฤศจิกายน 2556 อัตราการว่างงานชะลอตัวลดลงจากเดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ ร้อยละ 9.73  มาอยู่ที่ร้อยละ 1.18 ดังนั้น โดยภาพรวมสะท้อนให้เห็นว่า สถานการณ์การว่างงานในเดือนธันวาคม 2556 ยังอยู่ในระดับต่ำ      

ขณะที่สถานการณ์การเลิกจ้าง พบว่า มีผู้ถูกเลิกจ้างที่ขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากกรมการจัดหางาน เมื่อเดือนธันวาคม 2556 จำนวน 5,059 คน อัตราการชะลอตัวอยู่ที่ร้อย 13.39  เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ ร้อยละ 69.48 ดังนั้น สถานการณ์การเลิกจ้างในเดือนธันวาคม 2556 ยังไม่น่าเป็นห่วง แต่ก็ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ เพราะอัตราการชะลอตัวยังถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมาก เนื่องจากต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย3 ปี ในช่วงเศรษฐกิจมีเสถียรภาพอัตราการชะลอตัวอยู่ที่ร้อยละ 41.01

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 3-2-2557)

นายจ้าง-ลูกจ้างส่อแววฮึ่ม! แค่ 3 เดือนข้อพิพาทพุ่ง 200 แห่ง

นายสุวิทย์ สุมาลา รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กล่าวถึงสถานการณ์ด้านแรงงานว่า จากผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมใหญ่ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท รวมทั้งผลกระทบเศรษฐกิจโลก และการปรับตัวให้สามารถแข่งขันได้เพื่อรองรับประชาคมอาเซียน (เอซี) ในปี 2558 ซึ่งสะสมมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปีนี้มีแนวโน้มจะเกิดปัญหาข้อพิพาทระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา ซึ่งช่วง 3 เดือน ตั้งแต่ พ.ย.2556-ม.ค.2557 มีสถานประกอบการที่มีข้อพิพาทระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างประมาณ 200 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการในอุตสาหกรรมรถยนต์ และผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากข้อพิพาท เช่น การเรียกร้องปรับขึ้นเงินเดือน โบนัส การปรับวัน หรือเวลาทำงาน ซึ่งในจำนวนนี้มีร้อยละ 20-30 อยู่ระหว่างการเจรจาไกล่เกลี่ยยังไม่ได้ข้อยุติ ซึ่ง กสร.จะพยายามช่วยเจรจาให้ได้ได้ข้อยุติโดยเร็ว   

“ผลกระทบต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา และการปรับตัวเพื่อรองรับเอซี ทำให้มีแนวโน้มว่าข้อพิพาทระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างจะมากกว่าทุกปี แต่ข้อพิพาทระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างประมาณ 200 แห่ง และยังเจรจาไม่ได้ข้อยุติร้อยละ 20-30 เพราะ กสร.เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง และเมื่อรู้ว่ากำลังเกิดสถานการณ์ข้อขัดแย้ง ก็ได้ให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ เข้าไปดูแลเร่งระงับข้อพิพาท อยากฝากไปถึงนายจ้างว่า หากมีปัญหาด้านเงินทุน หรือจะปรับเปลี่ยนระบบเวลาการทำงานของลูกจ้างเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันเตรียมพร้อมรับเอซี ก็ขอให้ประชุมชี้แจงมีการพูดคุยให้ลูกจ้างได้เข้าใจ และรู้ถึงเหตุผล ถ้าดำเนินการไปโดยลูกจ้างไม่เข้าใจจะเกิดปัญหาข้อขัดแย้งขึ้น ขณะเดียวกัน ในส่วนของลูกจ้างก็ต้องยอมปรับตัวในการทำงานบ้างเพื่อให้สถานประกอบการอยู่รอด และแข่งขันได้ อยากให้ทั้งนายจ้าง และลูกจ้างพูดคุยกันด้วยเหตุผล เห็นใจกัน และอดทนฝ่าฟันวิกฤตต่างๆ ไปด้วยกัน เพราะต่างต้องพึ่งพากัน” รองอธิบดี กสร.กล่าว

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 3-2-2557)

สื่อนอกอ้างพม่าในไทยนับแสนเสี่ยงถูกจับหลังต่อใบอนุญาตทำงานไม่ได้

เมื่อวันที่ 3 ก.พ. สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า มีชาวพม่าที่มาค้าแรงงานในประเทศไทย ถูกจับกุมแล้วบางส่วน เนื่องจากใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวหมดอายุ หลังไม่สามารถทำการต่ออายุได้ เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปิดตัวลง เนื่องจากภาวะการประท้วงทางการเมืองในกรุงเทพฯ โดยสำนักข่าวอิระวดีรายงานด้วยว่า แรงงานพม่าอีกหลายรายกำลังเผชิญชะตากรรม ต้องหลบซ่อนจากการจับกุม อีกทั้งถูกขูดรีดจากแก๊งรีดไถ โดยมีการอ้างข้อมูลจากสมาคมไทย-พม่า ที่ระบุว่า ขณะนี้มีแรงงานพม่ากว่า 100,000 คน เสี่ยงถูกจับกุม เนื่องจากใบอนุญาตทำงานทำงานหมดอายุแล้ว ซึ่งทางรัฐบาลไทยยังไม่ออกมาระบุ ว่าผู้ใช้แรงงานข้ามชาติจะต้องทำอย่างไรต่อไป

ด้านรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานของพม่า ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิระวดีว่า "การชุมนุมทางการเมืองในประเทศไทย ทำให้การเจรจาของทั้งสองรัฐบาลไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งในตอนนี้มีแรงงานพม่าจำนวนมาก ที่ใบอนุญาตทำงานในประเทศไทยกำลังหมดอายุ หลังกำหนดไว้สำหรับการทำงาน 4 ปี"

รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานของพม่า เผยด้วยว่า จะพยายามเจรจาต่อรองกับรัฐบาลไทยต่อไป เพื่อให้แรงงานพม่าสามารถทำงานและอยู่ในประเทศไทย โดยไม่ต้องถูกส่งตัวกลับประเทศ

ทั้งนี้ ไทยและพม่ามีข้อตกลงร่วมกันในบันทึกความเข้าใจ หรือ เอ็มโอยู ที่ว่าด้วยใบอนุญาตทำงานของแรงงานพม่าในประเทศไทย ที่กำหนดจะมีอายุ 4 ปี เมื่อครบกำหนด แรงงานพม่าต้องกลับมาประเทศพม่า และอยู่เป็นเวลา 3 ปี ถึงจะสามารถกลับเข้าประเทศไทยไปทำงานแบบถูกกฎหมายได้อีก สำหรับแรงงานพม่าในประเทศไทย มีจำนวนมากถึง 3 ล้านคน โดยส่วนใหญ่จะเข้ามาทำงานเป็นคนก่อสร้าง, การเกษตร, จับปลา, โรงงานอาหารทะเล,โรงงานเย็บผ้า และร้านอาหาร เป็นต้น

(ไทยรัฐ, 3-2-2557)

ก.แรงงาน เปิดทำงานวันแรกหลังกระทรวงถูกปิด

หลังจากที่กระทรวงแรงงานถูกผู้ชุมนุม กปปส.ปิดทำการมาตั้งแต่วันประกาศชัตดาวน์ กรุงเทพฯ 13 ม.ค.วันนี้ (4 ก.พ.) ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน จัดพิธีเปิดสถานที่ทำการกระทรวงฯ โดยนายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ถือฤกษ์เวลา 08.39 น. นำข้าราชการและเจ้าหน้าที่กราบสักการะศาลพระพุทธชินราชและสักการะศาลพระภูมิชัยมงคล ศาลท้าวมหาพรหมเทวฤทธิ์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวง เพื่อความเป็นสิริมงคล ก่อนให้โอวาทขอให้ข้าราชการกระทรวงแรงงานน้อมนำพระบรมราโชวาท ที่ให้ข้าราชการทำงานเพื่อความเจริญของบ้านเมืองมาใช้เป็นแนวปฏิบัติ

ปลัดกระทรวงแรงงานให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากกระทรวงปิดที่ทำการไป ทำให้แต่ละหน่วยงานต้องแยกย้ายทำงานในที่ต่างๆ สถิติการให้บริการจึงลดลง โดยแต่ละหน่วยงานพบว่ามีการให้บริการประชาชนลดลงร้อยละ 20-35 การกลับมาเปิดงานเต็มรูปแบบจะทำให้การบริการประชาชนทำได้เต็มที่ดังเดิม

ทั้งนี้ ตนไม่ได้มีเจตนาท้าทายกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เจตนาที่จะให้บริการประชาชน กระทรวงอื่นก็เปิดทำการ กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานให้บริการประชาชน เหตุใดจึงเปิดไม่ได้ โดยหลังจากนี้ หากมีผู้ชุมนุมมาปิดกระทรวงแรงงานอีก ก็คงต้องทำความเข้าใจกัน ซึ่งอยากให้ผู้ชุมนุมเห็นใจประชาชน การมาปิดกระทรวงแรงงานก็เหมือนไม่ต้องการให้บริการประชาชน สำหรับวันนี้ที่มีการให้ข้าราชการร่วมกันสวมใส่เสื้อสีขาว เป็นการแสดงถึงความบริสุทธิ์ใจเป็นที่ตั้ง

สำหรับบรรยากาศพิธีเปิดทำการอย่างเป็นทางการของกระทรวงแรงงาน ช่วงเช้านี้ยังผ่านไปด้วยความเรียบร้อย มีข้าราชการตัวแทนจากทุกกรมในสังกัดร่วมพิธี โดยมีรายงานว่ามีการขอความร่วมมือให้ข้าราชการสวมเสื้อสีขาวร่วมพิธีแต่ละกลุ่มงานในสังกัด จึงกำหนดให้ข้าราชการอย่างน้อย 3 คน ใส่เสื้อขาวมาร่วมพิธี ซึ่งจะมีการทยอยย้ายระบบกลับมาให้บริการให้ครบตามปกติ โดยวันนี้ผู้บริหารไม่มีกำหนดประชุมใดๆ ในกระทรวง

(สำนักข่าวไทย, 4-2-2557)

 

Visitors: 21,924