แถลงการณ์ อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98

 

แถลงการณ์
ถึงเวลาที่รัฐบาลไทยต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 ไม่มีความชอบธรรมที่จะถ่วงเวลาอีกต่อไป


         ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 45 ประเทศที่เข้าร่วมก่อตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2462 ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 รวมเป็นเวลา 94 ปีแล้ว องค์กการแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อความยุติธรรมทางสังคม การรับรองและเคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพของคนงาน สนับสนุนให้เกิดความเป็นธรรมในการใช้แรงงานและยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และมีความมั่นคงของคนงาน
ปัจจุบันองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) มีสมาชิก 185 ประเทศ มีอนุสัญญา 189 ฉบับ มีข้อเสนอแนะ 202 ฉบับ ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาไปแล้ว 15 ฉบับ แต่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ยกเลิกการบังคับไปแล้ว 2 ฉบับ จึงหลือเพียง 13 ฉบับเท่านั้น สำหรับอนุสัญญาหลัก 8 ฉบับที่เป็นกรอบมาตราฐานแรงงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไปแล้ว 5 ฉบับคือ
ฉบับที่ 29 ว่าด้วยการเกณฑ์แรงงานหรือแรงงานบังคับ
ฉบับที่ 105 ว่าด้วยการยกเลิกแรงงานบังคับ
ฉบับที่ 101 ว่าด้วยค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกัน
ฉบับที่ 138 ว่าด้วยอายุขั้นต่ำที่อนุญาติให้ทำงานได้
ฉบับที่ 182 ว่าด้วยรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการใช้แรงงานเด็ก

        สำหรับอนุสัญญาที่เป็นกรอบมาตราฐานแรงงาน และเป็นอนุสัญญาพื้นฐานที่ประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบัน 3 ฉบับคือ
ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการรวมตัว
ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักแห่งสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง
ฉบับที่ 111 ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติ การจ้างงาน และการประกอบอาชีพ

       สำหรับอนุสัญญาฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 แรงงานไทยได้เรียกร้องให้รัฐบาลได้ให้สัตยาบันมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ในขณะที่สมาชิกขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) 185 ประเทศ ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 87 ไปแล้ว 152 ประเทศ และให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 98 ไปแล้ว 163 ประเทศ เฉพาะประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ที่ยังไม่ให้สัตยาบันอนุสัญญาหลักทั้ง 2 ฉบับมีเฉพาะประเทศไทย,ประเทศเวียดนาม,ประเทศลาวและประเทศบรูไนเท่านั้น

       อนุสัญญาฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 สําคัญอย่างไร ทำไมรัฐบาลไทยจึงยังไม่ให้สัตยาบัน

       ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการรวมตัว อนุสัญญาฉบับนี้มุ่งเน้นให้คนงาน,นายจ้างมีสิทธิรวมตัวกัน ปราศจากการเลือกปฏิบัติและการแซกแซงใดๆจากทุกฝ่าย รวมทั้งฝ่ายรัฐด้วย คนงานมีสิทธิ์เลือกที่จะรวมตัวและเป็นสมาชิกองค์กรที่ตนพอใจโดยสมัครใจ ทั้งองค์กรในประเทศและระหว่างประเทศ การรวมตัวดังกล่าวมิได้มีกำหนด อายุ เพศ เชื้อชาติ และศาสนา
ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักแห่งสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง อนุสัญญาฉบับนี้มุ่งเน้นให้การคุ้มครององค์กรลูกจ้างและนายจ้างมิให้ถูกเลือกปฏิบัติ และถูกกระทำอย่างเป็นธรรมจากการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง การเป็นกรรมกรและสมาชิกขององค์กร และส่งเสริมการเจรจาต่อรองร่วมโดยสมัครใจและยังกำหนดให้คนงานต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเพียงพอจากการกระทำที่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อสมาชิกและกรรมการขององค์กรด้วย
อนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับนี้ถูกเสนอในวาระสำคัญในวันแรงงานแห่งชาติ (วันกรรมกรสากล)มาทุกปี รวมทั้งติดตามทวงถามจากรัฐบาลและกระทรวงแรงงานมาตลอดมักจะได้รับคำตอบว่า ….
1. ที่รัฐบาลไทยไม่ให้สัตยาบัน เพราะรัฐเป็นห่วงเรื่องความมั่นคงเพราะเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานรัฐ รวมทั้งหากมีการรวมตัวอย่างเสรีทุกส่วนสาขาอาชีพ รวมทั้งราชการ หากมีข้อพิพาททุกสาขาอาชีพหยุดงานได้จะกระทบการบริหารงานของรัฐ และยิ่งไปกว่านั้นแรงงานข้ามชาติก็สามารถรวมตัวและเจรจาต่อรองได้เช่นเดียวกัน
2. กระทรวงแรงงานอ้างว่าคนงานยังไม่พร้อม เนื่องจากได้ทำวิจัย และได้รับคำตอบว่ายังไม่พร้อม
3. ข้าราชการกระทรวงแรงงานยังไม่พร้อม
4. ที่ยังไม่ให้สัตยาบันเพราะเหตุว่า พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ของประเทศไทยสอดคล้องกับอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับอยู่แล้ว

       นี่คือคำตอบในอดีตที่ผ่านมา แต่รัฐบาลที่แล้วได้มีมติคณะรัฐมนตรีเพื่อให้การรับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับและอยู่ในระหว่างขั้นตอนที่จะให้สัตยาบันอยู่นั้นก็มีการยุบสภา จึงเป็นอันยุติไป สำหรับรัฐบาลปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนว่าจะให้สัตยาบันเมื่อใด แต่ได้รับคำตอบจากข้าราชการกระทรวงแรงงานว่า อยู่ในระหว่างขั้นตอนการดำเนินการให้สัตยาบัน แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานก็มิได้กำหนดเป็นนโยบายเอาไว้

       ถึงเวลาที่รัฐบาลจะต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98

1. นับแต่ปี พ.ศ.2543 เป็นต้นมา ผู้อำนวยการใหญ่ของสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้มีหนังสือถึงสมาชิกทุกปี เพื่อผลักดันให้ประเทศที่เป็นสมาชิกองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) รวมทั้งประเทศไทยได้ดำเนินการให้สัตยาบันอนุสัญญาหลักที่เป็นมาตราฐานแรงงานหลักทั้ง 8 ฉบับ ซึ่งรวมทั้งอนุสัญญาฉบับที่87และฉบับที่98 ด้วย
2. ประเทศสมาชิกองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) 185 ประเทศซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นผู้ร่วมก่อตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เหมือนกับประเทศไทยแต่ประเทศเหล่านั้นส่วนใหญ่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาหลักไปเกือบหมดแล้ว
3. อนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับถูกกำหนดไว้เป็นมาตราฐานแรงงานหลัก ที่เป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี เมื่อไทยเปิดการค้าเสรีทางการค้าการลงทุนกับอาเซียน จำเป็นต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 และปรับปรุงกฏหมายแรงงานสัมพันธ์ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาฉบับดังกล่าวด้วย
4. รัฐบาลปัจจุบันโดยหัวหน้าพรรค ได้เคยหาเสียงกับผู้ใช้แรงงานโดยสัญญาว่า ถ้าได้เป็นรัฐบาลจะให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับภายใน 1 ปี บัดนี้ได้เป็นรัฐบาลแล้วมา 2 ปี จึงควรปฏิบัติตามสัญญา ไม่มีความชอบธรรมที่จะยืดระยะเวลาและหลีกเลี่ยงอีกต่อไป ถึงเวลาที่รัฐบาลจะต้องให้สัตยาบัน เพื่อเคารพสิทธิของคนงาน และยกระดับมาตราฐานแรงงานไทยให้ดีขึ้น ให้เท่าเทียมมาตราฐานสากลเยี่ยงอย่างประเทศที่เจริญแล้ว


คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

Visitors: 21,925