ความสำคัญของอนุสัญญา

21 ปี ข้อเรียกร้องวันกรรมกรสากล
: การรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98


ยงยุทธ เม่นตะเภา
เลขาธิการคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์
ฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
จัดทำเมื่อ 27 กันยายน 2556


          กว่า 21 ปี ของการเรียกร้องขององค์กรแรงงานในประเทศไทยเพื่อให้รัฐบาลไทยรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วม
          21 ปีบนเส้นทางอันขรุขระของการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง ดูได้จากตัวเลขจำนวนสถานประกอบการที่กระทรวงพาณิชย์ระบุเมื่อธันวาคม 2555 รวม 409,977 แห่ง แต่กลับมีการตั้งสหภาพแรงงานทั่วประเทศเพียง 1,379 แห่ง (กุมภาพันธ์ 2556) หรือคิดเป็นร้อยละ 0.33 ของสถานประกอบการเท่านั้น ทำให้ประเทศไทยมีจำนวนสหภาพแรงงานน้อยที่สุดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค
          อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 จึงถือเป็นหัวใจสำคัญของผู้ใช้แรงงาน และถือเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง อีกทั้งยังเป็นการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย ซึ่งทั่วโลกจะให้การยอมรับในสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย โดยถือว่าเป็นประเทศที่ยอมรับในสิทธิแรงงาน มีการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยผ่านการรวมตัวและการเจรจาต่อรองของแรงงาน
          ในปีที่ผ่านมา พ.ศ. 2555 กระทรวงแรงงานได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 190 วรรค 3 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเมื่อเดือนมิถุนายน–กรกฎาคม จำนวน 5 ครั้ง โดยภาคเหนือจัดที่เชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจัดที่ขอนแก่น ภาคตะวันออกจัดที่ชลบุรี ภาคใต้จัดที่สุราษฎร์ธานี และภาคกลางจัดที่กรุงเทพ มีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 492 คน
          สรุปผลในภาพรวม พบว่า
           - มีผู้เข้าร่วมที่เห็นด้วยกับการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 รวม 85.94 % ไม่เห็นด้วย 9.89 % และไม่แสดงความคิดเห็น 4.17 %
           - มีผู้เข้าร่วมที่เห็นด้วยกับการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 98 รวม 87.44 % ไม่เห็นด้วย 7.29 % และไม่แสดงความคิดเห็น 5.47%
          ทั้งนี้ที่ประชุมได้มีการเสนอแนะว่าภาครัฐควรรีบดำเนินการในการให้สัตยาบันทั้ง 2 ฉบับ และปรับปรุงกฎหมายภายในประเทศให้สอดคล้องกับการรวมตัวและเจรจาต่อรอง อีกทั้งรัฐไม่ควรนำปัญหาแรงงานข้ามชาติมาเป็นอุปสรรคต่อการให้สัตยาบัน เห็นควรให้กำหนดแนวทางการใช้สิทธิในการรวมตัวภายใต้เสรีภาพที่พึงมีพึงได้ เพื่อมิให้กระทบต่อความมั่นคงของประเทศที่ยังมีความจำเป็นต้องใช้แรงงานข้ามชาติ ซึ่งมีผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ
          นอกจากนั้นแล้วเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2555 คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบความเห็นข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เรื่อง “การให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98” ซึ่งได้เสนอความเห็นและข้อเสนอแนะว่า รัฐบาลควรพิจารณาการให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับไปพร้อมกัน
          นี้ไม่นับว่าเป็นครั้งแรกที่ ILO ก็ได้บรรจุเรื่องการให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 87 และ 98 ไว้ในโครงการระดับประเทศว่าด้วยงานที่มีคุณค่าปี 2555-2558 โดยให้เป็นงานที่ต้องดำเนินการในลำดับต้น และกำหนดกรอบเวลาการให้สัตยาบันให้แล้วเสร็จภายในปี 2557
         ดังนั้นกล่าวได้ว่าวันนี้ประเทศไทยมีความพร้อมอย่างยิ่งในการที่รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จักต้องเสนอเรื่องดังกล่าวนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีก่อนวันที่ 1 พฤษภาคม 2557 เพื่อให้ความเห็นชอบ และจะได้เสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาให้เห็นชอบก่อนดำเนินการให้มีผลผูกพันต่อไป ทั้งนี้เนื่องจากอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ กระทรวงแรงงานได้สอบถามความเห็นจากกระทรวงการต่างประเทศเรียบร้อยแล้ว ได้รับคำตอบว่าอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ น่าจะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พ.ศ.2550
         เพื่อให้เกิดความเข้าใจของการผลักดันขององค์กรแรงงานกลุ่มต่างๆมากขึ้น จึงขอทบทวนที่มาที่ไปและย้อนกลับไปยังช่วงปี 2534-2535 ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการผลักดันเรื่องนี้

         (1) การหายตัวไปของทนง โพธิอ่าน : จุดเริ่มต้นของการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98
          23 กุมภาพันธ์ 2534
กลุ่มทหารที่เรียกตนเองว่าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เข้าทำการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองจากพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีผู้มาจากการเลือกตั้ง สังคมไทยในขณะนั้นได้ถูกปกคลุมไปด้วยเงาทะมึนแห่งความอยุติธรรม สิทธิ เสรีภาพของประชาชนถูกลิดรอนและถูกกำราบด้วยกฎอัยการศึก
          26 กุมภาพันธ์ 2534
พลเอกสุจินดา คราประยูร ได้เรียกผู้นำแรงงานทั่วประเทศเข้าพบเพื่อชี้แจงนโยบายและเหตุผลในการยึดอำนาจ ในการชี้แจงครั้งนั้นพลเอกสุจินดาได้พูดว่า “ทุกข์ของกรรมกรถือเป็นทุกข์ของทหาร” แต่สำหรับทนง โพธิอ่าน แล้ว ในฐานะผู้นำแรงงานซึ่งมีตำแหน่งในขณะนั้นเป็นรองประธานภาคพื้นเอเชียแปชิฟิกของสมาพันธ์แรงงานเสรีแรงงานระหว่างประเทศ (ICFTU) เขาเห็นว่า “เป็นเพียงลมปากที่ไม่อาจเชื่อถือได้”
           เพราะต่อมาไม่นาน รสช. ก็ได้ลิดรอนสิทธิสหภาพแรงงานของคนงานรัฐวิสาหกิจ ทนงได้เรียกประชุมสภาแรงงานแห่งประเทศไทยเพื่อพิจารณามาตรการตอบโต้ในประเด็นการแยกแรงงานรัฐวิสาหกิจออกจากกฎหมายแรงงาน
           ภายหลังการประชุมเขาได้แสดงทัศนะอย่างแข็งกร้าวต่อคณะ รสช.ว่า "ทหารกำลังสร้างปัญหาให้กับกรรมกรด้วยการยุบสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจและออกประกาศ รสช. ฉบับที่ 54 อย่านึกว่าเป็นใหญ่ในแผ่นดินแล้วจะทำอะไรก็ได้ ต้องฟังเสียงประชาชนบ้าง และเวลานี้ทหารทำให้กรรมกรเป็นทุกข์ วันนี้สามช่า วันหน้าอาจไม่มีแผ่นดินอยู่"

          1 พฤษภาคม 2534
          การจัดงานวันกรรมกรสากลถูกจำกัดให้อยู่แค่ในพื้นที่สนามกีฬาไทย- ญี่ปุ่นดินแดง เพื่อป้องกันไม่ให้แรงงานออกมาเดินขบวน
          14 มิถุนายน 2534
          สภาแรงงานแห่งประเทศไทยภายใต้การนำของทนง โพธิอ่าน ได้จัดการประชุมใหญ่กลางท้องสนามหลวง เรียกร้องให้คืนสหภาพแรงงานให้คนงานรัฐวิสาหกิจและยกเลิกประกาศ รสช.ฉบับที่ 54
          ผลจากการเรียกร้องดังกล่าวทนง โพธิอ่าน ถูกสั่งห้ามมิให้เดินทางไปร่วมประชุมประจำปีขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เพราะเกรงว่าจะนำเรื่องการยุบสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจและประกาศ รสช. ฉบับที่ 54 ไปประณามกลางที่ประชุมนานาชาติ
          19 มิถุนายน 2534
          ทนง โพธิอ่าน ได้ถูกทำให้หายตัวไปอย่างลึกลับไร้ร่องรอย จากนั้นจนบัดนี้กว่า 22 ปีล่วงแล้ว ก็ไม่มีผู้ใดพบเห็นหรือได้ข่าวที่แท้จริงเกี่ยวกับทนงอีกเลย
          กล่าวได้ว่านี้อาจคือจุดเริ่มต้นสำคัญของการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยจำเป็นต้องรับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 เพราะกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ที่มีอยู่ในประเทศไทยไม่สามารถคุ้มครองการลุกขึ้นมาต่อสู้ของแรงงานได้แม้แต่น้อย

         (2) 21 ปีข้อเรียกร้องวันกรรมกรสากล : การรับรองอนุสัญญารับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98
         7 เมษายน 2535
          พล.อ. สุจินดา คราประยูร ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 19 ของประเทศไทย
         1 พฤษภาคม 2535
         กลุ่มสหภาพแรงงานย่านต่าง ๆ กลุ่มสหพันธ์แรงงาน กลุ่มรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ร่วมกันจัดงานวันกรรมกรสากลหน้ารัฐสภา ซึ่งในขณะนั้น รสช. ประกาศกร้าว ห้ามมิให้กรรมกรจัดงานวันกรรมกรสากลในปีนั้น
         และหลังจากนั้นหลายคนคงทราบดีได้เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬขึ้นมา มีการเดินขบวนเพื่อขับไล่เผด็จการ รสช. มีการปราบปรามอย่างรุนแรง จนในที่สุดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้ผู้นำทั้งสองฝ่ายเข้าเฝ้า พลเอก
สุจินดาลาออกจากตำแหน่ง นายอานันท์ ปันยารชุน ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรักษาการ
         13 กันยายน
         มีการเลือกตั้งใหญ่ทั่วทั้งประเทศ พรรคประชาธิปัตย์ได้รับคะแนนเสียงมาเป็นลำดับหนึ่ง นายชวน หลีกภัย ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี
         พ.ศ. 2536
         มีการจัดตั้งกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมขึ้น การจัดงานวันแรงงานแห่งชาติจึงอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงแรงงานฯมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน
         อ.ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา เคยแลกเปลี่ยนเสมอมาในเรื่องการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ว่า “องค์กรแรงงานได้มีการยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยเนื่องในวันกรรมกรสากลมาตั้งแต่ปี 2535 แล้ว แต่ไม่เคยได้รับการขานรับจากรัฐ” ช่วงฮึกเหิมสุดของการเรียกร้องกล่าวได้ว่า เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ.2552 เมื่อองค์กรแรงงานระดับชาติส่วนใหญ่ได้ร่วมมือกันก่อตั้ง “คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87และ 98” โดยมีคุณชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเป็นประธานคณะทำงาน และช่วยกันรณรงค์อย่างจริงจังในปี 2552-2553 จนกระทรวงแรงงานได้จัดตั้ง “คณะทำงานประสานการดำเนินงานเพื่อให้สัตยาบันอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98” ซึ่งประกอบด้วยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
         อย่างไรก็ตามเนื่องจากไม่สามารถค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับข้อเรียกร้องวันกรรมกรสากลย้อนกลับไปยังปี 2535 ได้ มีเพียงข้อมูลของนางสาวบุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ ฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ที่ได้รวบรวมข้อเรียกร้องวันกรรมกรสากลของคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ มาตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน คือ ปี 2556
ทั้งนี้ในปี 2547 เป็นปีแรกที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยซึ่งเกิดขึ้นมาอย่างเป็นทางการในปี 2546 ได้มีการแยกการจัดงานวันกรรมกรสากลออกมาจากคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ
ดังนั้นในตารางด้านล่างนี้ก็จะบรรจุให้เห็นข้อเรียกร้องของทั้ง 2 องค์กรจัดงาน ซึ่งก็จะช่วยทำให้ทุกท่านเห็นความเคลื่อนไหวการเรียกร้องในเรื่องการรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 รวมถึงข้อเรียกร้องที่เกี่ยวข้องกับการรวมตัวและเจรจาต่อรอง ว่าเกิดขึ้นมากว่า 21 ปีแล้ว แม้ว่าจะไม่ต่อเนื่องทุกปี แต่ก็ถือว่าเป็นข้อเรียกร้องสำคัญ
          มีรายละเอียดดังนี้

ปี   ชื่อประธานกรรมการจัดงาน
       วันแรงงานแห่งชาติ
ข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ
ของคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ /
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
ที่เกี่ยวข้องกับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87,98
2540 นายชิน ทับพลี
สภาลูกจ้างแห่งชาติ  ข้อ 9 ขอให้รัฐบาลคืนสิทธิการจัดตั้งสหภาพแรงงานให้กับพนักงานรัฐวิสาหกิจ
 ข้อ 11 ขอให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยสิทธิการจัดตั้ง และฉบับที่ 98 ว่าด้วยการเจรจาต่อรอง ฉบับที่ 141 ว่าด้วยการจัดตั้งของคนงานภาคเกษตร
 ข้อ 12 ขอให้รัฐบาลออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิผู้เริ่มก่อตั้งสหภาพแรงงาน
 ข้อ 13 ขอให้รัฐบาลเร่งติดตามสอบสวนค้นหานายทนง
โพธิอ่าน ผู้นำแรงงานที่สูญหายไปเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2534 ยุค รสช.
2541 นายบรรจง พรพัฒนานิคม
แรงงานเอกชนแห่งประเทศไทย  ข้อ 7 ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาฉบับที่ 87 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและฉบับที่ 98 ว่าด้วยการเจรจาต่างๆ
 ข้อ 8 คืนสิทธิการจัดตั้งสหภาพแรงงานและรัฐวิสาหกิจภายในสิ้นปีนี้

2542 นายพานิชย์ เจริญเผ่า
สมาพันธ์แรงงานแห่งประเทศไทย  ข้อ 8 ให้รัฐบาลดำเนินการให้ร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฉบับที่เสนอโดยฝ่ายแรงงานมีผลบังคับใช้
 ข้อ 9 ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาไอแอลโอ ฉบับที่ 87 ,98,111, 117 และ 135
2543 นายประเทือง แสงสังข์
(ชินโชติ แสงสังข์)
สภาแรงงานแห่งประเทศไทย  ข้อเรียกร้องทั้ง 8 ข้อไม่มีการกล่าวถึงเรื่องนี้
2544 นายเสน่ห์ ตันติเสนาะ
เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์  ข้อ 6 รัฐบาลต้องสร้างความเป็นเอกภาพของระบบแรงงานสัมพันธ์ด้วยการมี พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์เพียงฉบับเดียว โดยยกเลิก พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ปี 2543 และแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ปี 2518 เพื่อให้เหลือฉบับเดียว
 ข้อ 7 รัฐบาลต้องกำหนดเวลาที่แน่นอนเพื่อให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98
2545 นายพนัส ไทยล้วน
แรงงานแห่งประเทศไทย  ข้อเรียกร้องทั้ง 6 ข้อไม่มีการกล่าวถึงเรื่องนี้
2546 นายมนัส โกศล
พัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย  ข้อเรียกร้องทั้ง 9 ข้อไม่มีการกล่าวถึงเรื่องนี้โดยตรง
 มีเพียงข้อเรียกร้องข้อที่ 2 ขอให้รัฐนำพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ รวมกับ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ภายในปี 2546
2547 นายประเทือง แสงสังข์
(ชินโชติ แสงสังข์)
สภาแรงงานแห่งประเทศไทย  ข้อ 4 ให้รับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อให้มีเสรีภาพในการจัดตั้งองค์กรหรือเข้าร่วมองค์กรใดๆที่ตนเลือกในการปกป้องคุ้มครอง และรักษาผลประโยชน์ของตนเอง โดยปราศจากการแทรกแซง
คณะกรรมการ
สมานฉันท์แรงงานไทย  ข้อ 4 ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญา ILO ที่ 87 และ 98 ซึ่งว่าด้วยการเจรจาต่อรอง และการรวมตัวอย่างเป็นอิสระ
2548 นายพนัส ไทยล้วน
แรงงานแห่งประเทศไทย  ข้อ 2 ขอให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98
คณะกรรมการ
สมานฉันท์แรงงานไทย  ข้อ 5 ให้รัฐบาลประกาศรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 ซึ่งเป็นอนุสัญญาขั้นพื้นฐานที่รัฐบาลเกือบทั่วโลกให้การรับรองแล้ว ยกเว้นรัฐบาลไทย เพื่อเป็นหลักประกันของกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ในการคุ้มครองสิทธิคนงานทุกประเภทในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน และคนงานทุกประเภทต้องอยู่ภายใต้กฎหมายแรงงานฉบับเดียวกัน รวมทั้งคนงานอพยพจากประเทศต่างๆ ที่มาทำงานในประเทศไทย และว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วม ที่จะได้รับการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกันโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ และไม่ถูกแทรกแซงจากองค์การหรือหน่วยงานอื่น
2549 นายบรรจง บุญรัตน์
ศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย  ข้อ 8 รับรองอนุสัญญาไอแอลโอฉบับที่ 87 และ 98 เกี่ยวกับการรวมตัวและเจราจาต่อรอง
คณะกรรมการ
สมานฉันท์แรงงานไทย  ข้อ 4 ให้รัฐบาลประกาศรับรองอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นอนุสัญญาขั้นพื้นฐานที่รัฐบาลเกือบทั่วโลกให้การรับรอง ยกเว้นประเทศไทย เพื่อเป็นหลักประกันกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ในการคุ้มครองสิทธิคนงานทุกประเภทในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน
2550 นายมนัส โกศล
พัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย  ข้อเรียกร้องทั้ง 9 ข้อไม่มีการกล่าวถึงเรื่องนี้โดยตรง
 มีเพียงข้อเรียกร้องข้อที่ 3 ขอให้รัฐบาลปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
คณะกรรมการ
สมานฉันท์แรงงานไทย  ข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อไม่มีการกล่าวถึงเรื่องนี้โดยตรง
 มีเพียงข้อเรียกร้องข้อที่ 1 ให้รัฐบาลประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ... (ฉบับผู้ใช้แรงงาน)
2551 นายอุดมศักดิ์ บุพนิมิต
องค์การแรงงานแห่งประเทศไทย  ข้อ 3 รัฐบาลปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ให้สอดคล้องกับกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2550 อาทิ นิยามคำว่า นายจ้าง ลูกจ้าง การรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87,98 การใช้สิทธิการลาของสหภาพแรงในการประชุม อบรม สัมมนา การเป็นพยานในคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ค.ร.ส.) ได้กรณีนายจ้างใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ต่อศาลแรงงานให้นายจ้างนำเงินวางศาล เป็นต้น
คณะกรรมการ
สมานฉันท์แรงงานไทย  ข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อไม่มีการกล่าวถึงเรื่องนี้โดยตรง
 มีเพียงข้อเรียกร้องข้อที่ 1 ให้รัฐบาลประกาศ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฉบับเดียว
2552 นายชินโชติ แสงสังข์
สภาแรงงานแห่งประเทศไทย  ข้อ 6 ขอให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญา 87, 98 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ
คณะกรรมการ
สมานฉันท์แรงงานไทย  ข้อ 5 รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวกันร่วมเจรจาต่อรอง เป็นอนุสัญญาแรงงานหลัก (Core Labour Standard) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยก็เป็นประเทศภาคีสมาชิกขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ดังนั้นก็ควรปฏิบัติให้สมฐานะที่เป็นประเทศภาคีสมาชิก โดยการประกาศให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาดังกล่าว และให้มีนโยบายด้านแรงงานในการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
2553 นายทวี เตชะธีราวัฒน์
สมาพันธ์แรงงานแห่งประเทศไทย  ข้อ 6 รัฐต้องรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98
คณะกรรมการ
สมานฉันท์แรงงานไทย  ข้อ 5 รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และสิทธิในการรวมตัวกันร่วมเจรจาต่อรอง เป็นอนุสัญญาแรงงานหลัก (Core Labour Standard) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ดังนั้นในฐานะภาคีร่วมของ ILO รัฐบาลไทยก็ควรประกาศให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาดังกล่าว และให้มีนโยบายด้านแรงงานในการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
2554 นายชินโชติ แสงสังข์
สภาแรงงานแห่งประเทศไทย  ข้อ 1 ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98
คณะกรรมการ
สมานฉันท์แรงงานไทย  ข้อ 1 รัฐต้องให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98
2555 นายชัยพร จันทนา
สภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานอิสระแห่งประเทศไทย  ข้อ 1 ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98
คณะกรรมการ
สมานฉันท์แรงงานไทย  ข้อ 1 รัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรองภายในปี พ.ศ.2555 เพื่อสร้างหลักประกันในสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง
2556 นายชินโชติ แสงสังข์
สภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศ  ข้อ 1 ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อให้ได้รับสิทธิในการรวมตัว และเจรจาต่อรอง
คณะกรรมการ
สมานฉันท์แรงงานไทย  ข้อ 1 รัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง เพื่อสร้างหลักประกันในสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง

            ดังนั้นจากการประมวลข้อเรียกร้องของคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ และในส่วนของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จึงเห็นได้ว่าข้อเรียกร้องในเรื่องนี้เป็นข้อเรียกร้องที่องค์กรแรงงานได้มีการเคลื่อนไหวและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องมากที่สุดกว่าข้อเรียกร้องอื่นๆ จึงถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลควรต้องเร่งดำเนินการให้สัตยาบันอนุสัญญาพื้นฐานทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ซึ่งจะสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2558 มาตรา 64 ที่บัญญัติไว้ว่า "บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน องค์การพัฒนาเอกชน หรือหมู่คณะอื่น..." และยังเป็นการส่งเสริมให้คนงานและนายจ้างมีสิทธิและเสรีภาพในการสมาคมตามมาตรฐานแรงงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศด้วยเช่นเดียวกัน

 

Visitors: 22,010