พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

ประวัติศาสตร์แรงงานไทย



ประวัติศาสตร์แรงงานไทย


ในทุกขั้นตอนของกระบวนการพัฒนาประเทศตั้งแต่สังคมไทยโบราณเรื่อยมาจนถึงยุคปัจจุบัน มีผู้ใช้แรงงานจำนวนมหาศาลอาบเหงื่อต่างน้ำ ตรากตรำกรำแดดกรำฝน ทุ่มเทแรงกายเพื่อสร้างความสำเร็จให้กับกระบวนการพัฒนาประเทศตลอดมา

1.แรงงานบังคับ ไพร่ – ทาส

สังคมไทยโบราณปกครองในระบอบศักดินา มีแรงงาน ไพร่ – ทาส ซึ่งเป็นแรงงานบังคับ หรือ แรงงานเกณฑ์ เป็นผู้ดำเนินการผลิตทุกด้านของสังคมทั้งการเกษตร การก่อสร้างวัดวา เวียงวัง ถนนหนทาง ตลอดจนเป็นทหารป้องกันประเทศ ไพร่ ก็คือราษฎรสามัญชนคนทั่วไปทั้งชายและหญิงทุกคนต้องขึ้นทะเบียนสังกัดกับมูลนายส่วนใหญ่ไพร่ชายต้องถูกเกณฑ์ไปทำงานราชการส่วนทาส ก็จะมีสถานภาพที่ต่ำกว่าไพร่

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีการทำสนธิสัญญาเบาริ่งกับอังกฤษในปี พ.ศ.2398 สยามต้องเปิดประเทศเพื่อทำการค้ากับชาติตะวันตก การผลิตเพื่อกินเพื่อใช้ ได้เปลี่ยนไปสู่การผลิตเพื่อการค้าเสรี ข้าวกลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญที่สุดในประเทศ มีการลงทุนด้านอุตสาหกรรมจากชาวต่างชาติโดยใช้เครื่องจักรสมัยใหม่ เกิดการขยายตัวของแรงงานรับจ้างที่มีผลทำให้ระบบแรงงานบังคับ ไพร่ –ทาส ต้องเสื่อมสลายลง

2.กุลีจีน : แรงงานบังคับรุ่นแรก

ในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นเป็นช่วงเปลี่ยนจากสังคมศักดินาเข้าสู่ระบบทุนนิยม ชาวสยามยังเป็นแรงงานบังคับในระบบไพร่ไม่มีอิสระที่จะไปรับจ้างจึงมีการใช้แรงงานจีน หรือ กุลีจีน ซึ่งเป็นแรงงานต่างชาติ แรงงานจีนถือเป็นแรงงานรับจ้างรุ่นแรกๆในการทำงานบุกเบิกสังคมไทย โดยต้องมีการผูกปี้ครั่งที่ข้อมือเป็นสัญลักษณ์การเสียภาษีให้รัฐไทยราวปีละ 2 บาท ก็จะมีอิสระในการเดินทางและทำงานรับจ้าง แรงงานจีนขยันขันแข็ง ทำงานหลากหลายประเภท เช่น เป็นกุลีลากรถ ทำงานขุดหนองขุดคลอง อู่ต่อเรือ เป็นกะลาสีเรือ ทำงานก่อสร้าง สร้างถนน เป็นคนงานในโรงงานน้ำตาล โรงสี โรงเลื่อย คนงานเหมืองแร่ โดยได้ค่าตอบแทนน้อยมากเมื่อเทียบกับงานที่หนักมากและขาดหลักประกันในการทำงาน ผู้คนจำนวนมากต้องกลายเป็นคนติดอบายมุข สูบฝิ่น เพราะรู้สึกสบายหายปวดเมื่อย และยังมีการรวมกลุ่มจัดตั้งองค์กรที่เรียกว่า “อั้งยี่” ขึ้นมา และอาศัยองค์กรประเภทนี้ดูแลพิทักษ์ผลประโยชน์ แต่”อั้งยี่” ก็กลายเป็นสิ่งต้องห้าม เป็นสมาคมลับ เมื่อมีการออกกฎหมายอั้งยี่ขึ้นมา

 3.แรงงานกับการปฏิรูปประเทศสมัยรัชกาลที่ 5

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถือเป็นยุคแห่งการปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยในหลายๆด้าน ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม การปฏิรูประบบสาธารณูปการได้สร้างความสะดวกสบาย นำความกินดีอยู่ดีมาสู่ประชาชนชาวสยามเช่น การขุดคูคลองเพื่อการคมนาคมขนส่ง และการชลประทานสร้างสะพาน ถนนหนทาง เส้นทางรถไฟ การประปา ไฟฟ้า ไปรษณีย์ โทรเลข และโทรศัพท์ มีผู้ใช้แรงงานจำนวนมากมายที่ทุ่มเททำงานและพลีชีพเพื่อความสำเร็จของโครงการปฏิรูป เป็นการปูพื้นฐานเพื่อการพัฒนาประเทศในยุคต่อๆมา กระบวนการพัฒนาประเทศมีความต้องการใช้แรงงานจำนวนมาก การมีไพร่ – ทาสก็เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ล้าหลังป่าเถื่อนในสายตาชาวโลก

 

 รวมทั้งมีปฏิกิริยาเรียกร้องจากชนชั้นล่างจนเกิดเป็น กบฏไพร่ อยู่เสมอ ทำให้ในที่สุด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไปทีละขั้นตอนเพื่อยกเลิกระบบไพร่ – ทาสและขุนนาง ในช่วงปี พ.ศ.2448

4.กรรมกรกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475


นับแต่เปิดประเทศและเริ่มดำเนินการอุตสาหกรรม มีการเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง จนทำให้เกิดข้อขัดแย้งและนำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างแรงงานกับนายจ้างตลอดมา มีการประท้วงผละงานของคนงานซึ่งมักมีสาเหตุมาจากเรื่องค่าจ้างและสวัสดิการในการทำงาน มีการรวมตัวกันไปร้องทุกข์กับตำรวจหรือนักหนังสือพิมพ์ มีการกดดันจากองค์กรแรงงานระหว่างประเทศเพื่อให้มีกฎหมายดูแลแรงงาน จนกระทั่งเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 สิทธิเสรีภาพของชนชั้นล่างได้รับการยอมรับมากขึ้นกรรมกรจึงเริ่มมีปากมีเสียง สมาคมกรรมกรรถรางแห่งสยามที่นำโดย นายถวัติ ฤทธิเดช

ได้รับการจดทะเบียนเป็นแห่งแรก รัฐบาลคณะราษฎรเริ่มก้าวแรกของนโยบายเกี่ยวกับกรรมกรโดยออกกฎหมายให้มีการจัดหางานมากขึ้นและมีนโยบายให้รัฐเข้าไปดำเนินกิจการอุตสาหกรรมแทนที่ชาวต่างชาติซึ่งเรียกว่า ทุนนิยมโดยรัฐ เกิดหน่วยงาน “รัฐพาณิชย์” ซึ่งก็คือรัฐวิสาหกิจในยุคต่อๆมานั่นเอง

5.ยุคมืดของแผ่นดิน


หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้นโยบายของคณะราษฎรที่เปิดกว้างในเรื่องสิทธิเสรีภาพจะทำให้เกิดองค์กรแรงงานที่เข้มแข็งอย่าง สมาคมสหอาชีวะกรรมกรแห่งระเทศไทย และต่อมาคือ กรรมกร 16 หนวย ที่ผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติกฎหมายแรงงานฉบับแรกเมื่อ พ.ศ. 2499 แต่อิทธิพลของรัฐบาลทหารในช่วงเวลาต่อมาก็ทำให้สิทธิเสรีภาพของคนงานถูกลิดรอน ในยุคสงครามเย็นอเมริกาซึ่งเป็นผู้นำแห่งค่ายทุนนิยมมีนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์และสนับสนุนให้เกิดระบอบเผด็จการทหาร สฤษดิ์ – ถนอม – ประภาส ขึ้นนับแต่รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 เป็นต้นมา ถือเป็นยุคมืดของแผ่นดิน รัฐบาลกำจัดกวาดล้างผู้มีความคิดเห็นต่าง นักการเมือง นักหนังสือพิมพ์ ปัญญาชน และผู้นำแรงงานจำนวนมากถูกจับกุมคุมขัง ศุภชัย ศรีสติ ผู้นำแรงงานของกรรมกร 16 หน่วยถูกยิงเป้าประหารชีวิตด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์

รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ. 2504 โดยส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชนอย่างเต็มที่ การหมุนภาคอุตสาหกรรมในเมืองแล้วทอดทิ้งชนบททำให้เกิดการอพยพเพื่อไปหางานทำในเมือง แต่ชีวิตของผู้ใช้แรงงานต้องกลับแร้นแค้นสิทธิเสรีภาพถูกลิดรอน ถูกเอารัดเอาเปรียบ ช่องว่างระหว่างชนบทกับเมือง คนจนกับคนรวยถูกขยายออกไป

 

6.ยุคฟื้นฟูขบวนการแรงงานไทย

14 ตุลา 2516 ขบวนการนักศึกษา ประชาชน ลุกขึ้นต่อสู้เผด็จการจนเกิดประชาธิปไตยขึ้นอีกครั้งในสังคมไทย สิทธิของแรงงานกลับคืนมามีการจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้นมามากมายเพื่อเป็นปากเสียงของผู้ใช้แรงงาน 6 ตุลา 2519 สิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกลิดรอน การคุกคามถึงชีวิตทำให้นักศึกษา ประชาชน  รวมทั้งผู้ใช้แรงงานจำนวนมากต้องหลบหนีเข้าป่าเพื่อต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 การรัฐประหารของคณะ รสช. ได้แยกสลายขบวนการแรงงานภาครัฐวิสาหกิจกับเอกชน ทะนง โพธิ์อ่าน ผู้นำแรงงานที่ลุกขึ้นมาต่อต้านเผด็จการทหารหายสาบสูญไป ต่อมาก็เกิดเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ 2535 ที่มีการเข่นฆ่าปราบปรามประชาชน

 

7.ยุควิกฤตขบวนการแรงงานไทย


วิกฤติเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยเมื่อปี 2540 ทำให้เกิดการเลิกจ้างคนงานมากมายและมีการเร่งแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ต่อด้วยวิกฤต “แฮมเบอร์เกอร์” ที่สหรัฐอเมริกาในช่วงปี 2550 ที่ผลักคนงานจำนวนมากให้กลายไปเป็นแรงงานนอกระบบที่กฎหมายไม่ให้การคุ้มครองดูแล การขาดเอกภาพในขบวนการแรงงานรวมทั้งวิกฤตการเมืองแบ่งขั้วเหลือง – แดง ส่งผลให้ขบวนการแรงงานไทยอ่อนแอลง ความไม่เข้มแข็งของขบวนการแรงงานไทยส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องแรงงานยังย่ำแย่มาจนถึงทุกวันนี้ ชีวิตของผู้ใช้แรงงานไทยส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ในสภาพที่ขาดความมั่นคงในการทำงาน ค่าจ้างต่ำ สวัสดิการไม่เพียงพอ ทำงานในสภาพที่ไม่ปลอดภัย

 

แบบฟอร์มติดต่อกลับ

Visitors: 21,958