อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98

ข้อดีในการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98

 

อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วมนั้นถือเป็นอนุสัญญาที่เป็นหลักการพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญที่สุดหลักการหนึ่งของ ILO ที่เชื่อกันว่าจะเป็นการสร้างหลักประกันสำคัญให้กับคนทำงานและจะนำมาซึ่งสังคมที่เป็นธรรมและสันติสุข ด้วยเหตุนี้ประเทศสมาชิกILO ส่วนใหญ่จึงให้การสนับสนุนโดยการให้สัตยาบัน เคารพและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ขณะที่ประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศก่อตั้ง ILO ยังไม่ได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาทั้งสองฉบับนี้ ทั้งๆที่มีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลไทยตัดสินใจลงนามให้สัตยาบันจากองค์กรแรงงานต่างๆในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์ล่าสุดรัฐบาลได้เริ่มตอบรับข้อเรียกร้องนี้โดยได้มีการจัดตั้งคณะทำงานเประสานการดำเนินงานเพื่อให้สัตยาบันอนุสัญญาสองฉบับนี้ประกอบผู้แทนจากองค์กรนายจ้าง องค์กรแรงงาน หน่วยงานราชการและนักวิชาการ ซึ่งคณะทำงานชุดนี้ได้เสร็จสิ้นภารกิจแล้วและมีความเห็นว่ารัฐบาลไทยควรจะดำเนินการเพื่อให้สัตยาบันสองฉบั[นี้ ขณะนี้จึงอยู่ที่ดุลยพินิจของรัฐบาลว่าจะเอาอย่างไร 

ข้อดีของการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98
1. การให้สัตยาบัน จะช่วยลดปัญหาด้านแรงงานสัมพันธ์ที่มีอยู่ปัจจุบันและมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ซึ่งมีรากฐานมาจากการที่สังคมมีทัศนคติในทางลบต่อสิทธิและเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม ทำให้ช่องทางในการพูดคุยอย่างเท่าเทียมโดยใช้หลักความเป็นเหตุเป็นผลมีไม่เพียงพอ เมื่อลูกจ้างและนายจ้างเกิดความขัดแย้งจึงมีแนวโน้มจะขยายเป็นความรุนแรงได้ง่าย การให้สัตยาบัน จะทำให้ประเทศมีภาระผูกพันในการดำเนินการตามอนุสัญญา จึงต้องส่งเสริมและพัฒนาอย่างจริงจังให้ทุกฝ่ายยอมรับและปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างสามารถเจรจาและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ อันเป็นการส่งเสริมบรรยากาศการลงทุนที่แท้จริง
2. การให้สัตยาบัน เป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในชุมชนระหว่างประเทศ
2.1. ปรับสถานะประเทศไทยออกจากรายชื่อประเทศสมาชิกส่วนน้อยขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ที่ยังไม่ยอมให้สัตยาบันอนุสัญญาสองฉบับนี้ ซึ่งเหลืออยู่ไม่มากและถูกหยิบยกเป็นตัวอย่างไปทั่วโลก
2.2. เป็นการแสดงว่าประเทศไทยยอมรับมาตรฐานแรงงานสากล ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันทางการค้าในยุคโลกาภิวัตน์ ที่กำลังนำเรื่องมาตรฐานแรงงานมาใช้เป็นเหตุผลในการกีดกันทางการค้า 
3. การให้สัตยาบัน จะเป็นพื้นฐานในการส่งเสริมเสรีภาพในการรวมกลุ่มและการเจรจาต่อรองร่วม และแก้ไขกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ในประเทศให้สอดคล้องตามหลักการของอนุสัญญาดังกล่าว ที่สำคัญได้แก่
3.1. การส่งเสริมเสรีภาพในการรวมกลุ่ม เช่น ข้าราชการและพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐมีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงาน สหภาพแรงงานภาคเอกชนกับสหภาพแรงงานภาครัฐวิสาหกิจสามารถเข้าร่วมเป็นองค์กรเดียวกันได้ 
3.2. การคุ้มครองจากการแทรกแซงจากนายจ้าง เช่น คนงานที่ริเริ่มจัดตั้งสหภาพแรงงานและรวมตัวเจรจาต่อรองต้องได้รับการคุ้มครองจากการถูกเลิกจ้างและการปิดงานเฉพาะกลุ่ม
3.3. การคุ้มครองจากการแทรกแซงจากเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น การสั่งให้กรรมการสหภาพออกจากตำแหน่ง การบังคับให้ลูกจ้างและนายจ้างที่จัดตั้งองค์กรต้องจดทะเบียนกับเจ้าหน้าที่รัฐ การบังคับให้ที่ปรึกษาของนายจ้างและลูกจ้างต้องจดทะเบียนกับทางการ 
4. การให้สัตยาบัน ในระยะยาว จะช่วยสร้างสังคมที่มีการแบ่งปันผลประโยชน์กันอย่างเป็นธรรม และช่วยลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน
 

แบบฟอร์มติดต่อกลับ

Visitors: 21,943